หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ย้อนรอย 5 ระบบปฏิบัติการ (OS) มือถือที่ไปไม่รอดในยุคสมาร์ทโฟน และสาเหตุที่ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ปัจจุบันนี้หากพูดถึงระบบปฏิบัติการ (OS) มือถือ หลักๆ ก็จะมีแค่ iOS กับ Android เท่านั้นที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกัน หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงมีตัวเลือกน้อย ไม่มีเจ้าอื่นคิดจะปั้น OS ใหม่ๆ ขึ้นมาเพิ่มความหลากหลายให้ตลาดเลยหรือ คำตอบก็คือมีครับ และเคยมีเยอะด้วย ทั้ง OS ที่ต่อยอดมาจากสมัยฟีเจอร์โฟนครองเมืองและ OS ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาดจากสองค่ายยักษ์ใหญ่ หลายตัวมีระบบและฟังก์ชันที่น่าสนใจ บางตัวก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่จดจำ แต่ที่เราไม่ได้เห็น OS เหล่านี้โลดแล่นอยู่ในวงการเพราะว่ามันต่างก็ล้มหายตายจากไปกันหมดแล้วด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ และนี่คือตัวอย่าง 5 ระบบปฏิบัติการมือถือที่ไปไม่รอดในยุคสมาร์ทโฟนครับ

 

1. WebOS

หากพูดถึงมือถือ “ปาล์ม” (Palm) วัยรุ่นยุคนี้อาจจะนึกภาพไม่ออกว่ามันมีหน้าตาเป็นยังไง แต่ชาวไอทีรุ่นเก๋าจะต้องร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้ายุคสมาร์ทโฟน มือถืออัจฉริยะที่เหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัวอย่าง PDA เคยครองตลาดมือถือราคาแพงมาก่อน และ Palm ก็เป็นแบรนด์ที่รุ่งมากในยุคนั้น WebOS ในมือถือ Palm พัฒนาต่อยอดมาจาก PalmOS และได้เปิดตัวออกมาพร้อมกับ PDA รุ่น Palm Pre ซึ่งในเวลานั้นถึงกับถูกกล่าวขวัญกันอย่างมากว่าจะสามารถพลิกเกมการแข่งขันในวงการมือถือได้เลยทีเดียว ด้วยเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสแบบ multitouch ที่สมัยนั้นถือว่าล้ำมากๆ และ Web Application ที่ทำงานบนเบราเซอร์ได้ แม้เอาเข้าจริงจะขายได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของสาวกไอที และฟีเจอร์หลายอย่างของ WebOS ก็ถูก OS อื่นๆ ยืมไปพัฒนาต่อเป็นของตัวเองในเวลาต่อมา

ความเป็นมา

ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2007 เมื่อการถือกำเนิดของ iPhone ทำให้ Palm ต้องสั่นคลอน ถึงกับต้องรีบดึง Jon Rubinstein หนึ่งในทีมพัฒนา iPod ที่เกษียณแล้วมาช่วยพัฒนามือถือยุคใหม่ที่สามารถท้าชนกับ iPhone ได้ หลังจากทุ่มเทพัฒนามาสองปีก็ได้ Palm Pre พร้อม WebOS ออกมาสู้กับ iPhone โดยมีจุดขายเป็นมือถือหน้าจอสัมผัสแบบ multitouch รุ่นแรกที่ไม่ใช่ iPhone ต่อมาในปี 2010 ยอดขาย Palm ตระกูล Pre เริ่มส่อแววไม่ดี HP จึงโดดเข้ามาซื้อกิจการ Palm และเปลี่ยนไปใช้ชื่อแบรนด์ HP แทน แต่หลังจากเปิดตัวมือถือออกมาได้เพียง 2 รุ่น HP ก็ตัดสินใจยุบโครงการพัฒนามือถือและปิดตำนาน WebOS ไปพร้อมกันโดยปริยาย

 

จุดเด่นที่น่าจดจำ

WebOS รองรับการใช้งาน gesture ได้หลากหลายถึงขนาดมีพื้นที่สำหรับ gesture พิเศษใต้หน้าจอ และยังเป็น OS มือถือรุ่นแรกๆ ที่รองรับ Multitasking ซึ่งฟีเจอร์นี้ก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานของ OS รุ่นใหม่ๆ ในเวลาต่อมา อีกฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจคือ Universal Search ที่สามารถค้นหาผลลัพธ์จากหลายๆ แอปพลิเคชันพร้อมกันในคราวเดียว และฟังก์ชันการนำเข้า data จากหลายๆ แหล่งลงมาใน address book พร้อมๆ กัน แถมยังเก็บข้อมูลบน cloud อีกด้วย สำหรับแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มเก่าก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง สามารถเปิดใช้งานได้ผ่าน PalmOS Emulator นับว่าเป็นหนึ่งใน OS มือถือที่ยอดเยี่ยมอีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว

 

ทำไมถึงไปไม่รอด

แม้ว่าจะมีข้อดีมากมายแต่ WebOS บังเอิญเปิดตัวออกมาในจังหวะที่หุ้นของ Palm กำลังดิ่งเหวและต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือเพียงหุ้นละ $1.42 เท่านั้น แม้ตัวเลขจะค่อยๆ ขยับขึ้นมาในภายหลังแต่ก็ไม่ทันการณ์ ลงเอยด้วยการที่ HP ต้องเข้ามาซื้อกิจการต่อ ซึ่งสาเหตุที่ยอดขายของ Palm ตกก็ไม่ใช่อะไรที่ไหนแต่มันคือความไม่หลากหลายของแอปพลิเคชัน เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เลย และกว่า Palm จะปล่อย SDK สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันออกก็หลังจากเปิดตัว Palm Pre ไปแล้วถึง 1 เดือนเต็มๆ ประกอบกับ Palm ไม่ค่อยจริงจังกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ทำให้ Palm และ WebOS ตายลงอย่างช้าๆ และปิดตำนานไปอย่างน่าเสียดาย

 

2. MeeGo

MeeGo เป็น OS ที่เกิดจากการร่วมพัฒนาของ Nokia และ Intel โดยเป็นการจับโปรเจ็คท์ของทั้งคู่ได้แก่ Moblin (Mobile Linux) และ Maemo มารวมกัน ซึ่งทั้งสองอยู่บนฐานของ ระบบปฏิบัติการ Linux ซึ่งเป็น open source ทั้งคู่ โดยในทีแรก MeeGo ถูกตั้งความหวังให้เป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ Nokia ในวงการสมาร์ทโฟน แต่กลับต้องมาตกม้าตายเพราะการเมืองภายใน โดย MeeGo เปิดตัวออกมาพร้อมกับมือถือ Nokia N9 หลังจากที่ Nokia ได้ประกาศขายกิจการให้ Microsoft ไปแล้วถึง 4 เดือน ชะตากรรมของ Nokia N9 และ MeeGo จึงถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องถูกลอยแพกลางอากาศและหายไปตลอดกาล

 

ความเป็นมา

ในปี 2010 Nokia จับมือกับ Intel เปิดตัวระบบปฏิบัติการ MeeGo ในฐานะ OS ครอบจักรวาลสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไปจนถึงโทรทัศน์และ Netbook แต่ทำไปทำมากลับมีสมาร์ทโฟนที่ได้ใช้ MeeGo เพียงแค่ 2 รุ่นได้แก่ Nokia N950 และ N9 แถมยังวางจำหน่ายในแวดวงจำกัดเท่านั้น จนกระทั่งการตกลงซื้อขายกิจการระหว่าง Nokia และ Microsoft ถูกประกาศออกมา Intel จึงถอนตัวออกจากโปรเจ็คท์ Meego และเกิดเรื่องราวยุ่งๆ ตามมาอีกมากมาย

 

จุดเด่นที่น่าจดจำ

เนื่องจาก MeeGo ไม่ได้เป็น OS สำหรับมือถือโดยตรง จึงมี UX (User Experience) หน้าตาต่างกันไปตามประเภทอุปกรณ์ สำหรับ UX มือถือจะแบ่งเป็นสามหน้าต่าง และควบคุมด้วยการสัมผัส ย่อแอป, ปิดแอป, สลับหน้าจอ และอื่นๆ ด้วยการลากนิ้วจากขอบจอ ส่วนการดีไซน์ก็มีพื้นฐานที่ละม้ายคล้ายกับระบบปฏิบัติการ Symbian Anna แต่น่าเสียดายที่แทบจะไม่มีแอปพลิเคชัน third-party ให้ใช้เลยแม้จะมีรากฐานมาจาก open source อย่าง Linux ก็ตาม

 

ทำไมถึงไปไม่รอด

เบื้องหลังความล้มเหลวของ MeeGo เต็มไปด้วยการเมืองอันยุ่งเหยิงระหว่าง Nokia, Intel และ Microsoft นอกจากเรื่องภายในแล้ว ยังมีเรื่องที่ Nokia N9 และ N950 ไม่ได้ใช้ OS MeeGo จริงๆ แต่เป็น Maemo 6 ที่ทำหน้าตาให้เหมือน MeeGo เท่านั้น ส่วน MeeGo เวอร์ชันเต็มกลับไปปรากฏในแท็บเล็ต WeTab ของเยอรมันที่แทบไม่มีใครรู้จัก และก็อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Nokia N9 เปิดตัวออกมาหลังจากที่ Nokia ได้ดีลกับ Microsoft เรื่องซื้อขายกิจการไปเรียบร้อยแล้วถึง 4 เดือน และ CEO ของ Nokia ในตอนนั้นซึ่งก็คือ Stephen Elop (ภายหลังได้มาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ Microsoft ก่อนจะพ้นตำแหน่งไปเมื่อปี 2015) ก็พยายามผลักดันให้ Nokia เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft และรับเอาแพลตฟอร์ม Windows Phone มาใช้ (ซึ่งก็เป็น 1 ใน OS ที่ไปไม่รอดเหมือนกัน) ในขณะเดียวกันก็ออกมาประกาศว่า Nokia N9 จะเป็นมือถือที่ใช้ MeeGo รุ่นสุดท้าย นอกจากจะเปิดตัวออกมาผิดเวลาแล้ว ผู้ใหญ่ยังไม่ให้การสนับสนุน ในที่สุดก็กลายเป็นดาวดับแสงไป
 

3. Windows Phone

จริงๆ แล้ว Windows Phone ก็ยังไม่ถือว่าหายไปจากวงการเสียทีเดียวเพราะก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างแม้ตอนนี้แทบจะไม่มีใครใช้แล้วก็ตาม ซึ่งน่าเสียดายมากๆ เพราะ Windows Phone มีคอนเซ็ปต์การดีไซน์ที่ดีเยี่ยมและได้รับการพัฒนาโดยผู้ที่คร่ำหวอดในวงการไอทีมานานอย่าง Microsoft แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง Windows Phone ก็กลายเป็น OS ที่ (เกือบ) ถูกทอดทิ้งและใกล้จะตายเต็มที

 

ความเป็นมา

Windows Phone OS เป็นการต่อยอด OS ในเครื่องเล่นเพลงพกพา Zune ของ Microsoft โดยมีการนำ Windows CE kernel มาใช้เป็นฐานในการพัฒนา แต่ด้วยความที่ Windows CE เป็น kernel ที่ค่อนข้างล้าสมัยแล้ว ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากตามมาในภายหลัง นั่นคือเมื่อ Windows เปิดตัว OS เวอร์ชันใหม่ Windows Phone 8 สมาร์ทโฟนที่วางจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว กลับไม่สามารถรองรับ OS ตัวนี้ได้ หลังจากนั้นปัญหาก็คลี่คลายเมื่อ Microsoft ได้ผนวกรวม Nokia เข้ามา ทำให้สามารถพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกมารองรับ OS รุ่นนี้ได้มากขึ้น แม้ทาง Microsoft จะทุ่มเททำการตลาดอย่างมากก็ตามแต่ก็ไม่อาจซื้อใจผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้ จนกระทั่งถูก Windows 10 Mobile เข้ามาแทนที่

 

จุดเด่นที่น่าจดจำ

จริงๆ แล้ว Windows Phone ถือเป็น OS ที่ดีตัวหนึ่ง โดยเฉพาะดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ เน้นความเรียบง่ายสบายตา ไม่พยายามยัดเยียดข้อมูลมากมายขึ้นมาบนหน้าจอ ในช่วงแรกๆ ยังมีฟีเจอร์ Hubs ที่รวบรวมคอนเทนต์ประเภทเดียวกันเอาไว้ในที่เดียวและเข้าถึงได้ง่าย และ Live Tiles ที่รวมลักษณะเด่นของแอปพลิเคชันและวิดเจ็ตเข้าไว้ด้วยกัน ตามมาด้วย Touch Keyboard ก็มีการตอบสนองรวดเร็ว ในระยะหลังๆ ก็มีการเพิ่มผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Cortana เข้ามาให้ทัดเทียมกับคู่แข่งอย่าง Siri ของ iOS และยังมีความพยายามเพิ่มฟีเจอร์อื่นๆ เข้าไปอีกเรื่อยๆ แต่กลับไม่โดนใจผู้ใช้เท่าที่ควร อันเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของทีมงาน Microsoft นั่นเอง

 

ทำไมถึงไปไม่รอด

“ก็แอปมันน้อย” เชื่อว่าเป็นใครก็ต้องตอบแบบนี้แน่นอน ซึ่งก็ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้วเรื่องแอปพลิเคชันยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของความล้มเหลว แต่เป็นเพียง "ผลพวง" เท่านั้น สาเหตุหลักๆ ก็คือ Microsoft ตัดสินใจได้แย่สุดๆ ในการพัฒนา OS อย่างแรกคือ Microsoft เลือกใช้ Windows CE ซึ่งเป็น Kernel ตกยุคมาพัฒนา Windows Phone 7 ทำให้มีปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ตามมาภายหลัง ยิ่งเจอคู่แข่งอย่าง iOS และ Android รุกตลาดหนักเข้า Microsoft จึงต้องเร่งมือพัฒนา Windows Phone ให้ทัดเทียม ด้วยความเร่งรีบนี้เองทำให้ Windows ต้องเลือกตัดฟีเจอร์หลายอย่างทิ้งกลางทางซึ่งล้วนแต่เป็นฟีเจอร์ที่สำคัญทั้งนั้น เช่น Copy & Paste, การแจ้งเตือน, การรองรับ multitasking, การแชร์เน็ตมือถือ (tethering), VoIP แม้กระทั่งเสียงริงโทนยังปรับแต่งเองไม่ได้ และอื่นๆ อีกมากมาย แม้ในภายหลังฟังก์ชันเหล่านี้จะถูกเพิ่มเข้ามาแต่ก็ต้องแลกมากับการเอา Hubs ซึ่งเคยเป็นจุดขายหลักของ Windows Phone ออกไป เนื่องจากความไม่เสถียร แถม Microsoft ยังได้เพิ่มฟีเจอร์ไร้สาระอย่าง Kids Corner เข้ามา การตัดสินใจพิลึกๆ นี่เองทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหลายเริ่มหมดความสนใจใน Windows Phone OS และหันไปซบแพลตฟอร์มอื่นๆ กันหมด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ Windows Phone OS เสื่อมความนิยมซึ่งคงจะไม่สามารถแจกแจงได้หมดในบทความนี้แน่ๆ

 

4. BlackBerry 10

ย้อนไปสัก 6-7 ปีก่อน BlackBerry เป็นสมาร์ทโฟนที่ฮิตมากในบ้านเรายุคนั้น ด้วยแป้นคีย์บอร์ดอันเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ของการแลก PIN ทำให้ฮิตติดลมบนในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่ง BlackBerry ค่อยๆ ถูกเบียดบังจาก iPhone และสมาร์ทโฟน Android ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว แม้จะพยายามปรับตัวแล้วก็ตามแต่ก็สู้ไม่ไหวจนในที่สุดต้องจำใจขายแบรนด์ตัวเองไปในฐานะฟางเส้นสุดท้าย หากจะว่ากันตามจริงแล้ว BlackBerry10 OS ก็ไม่ได้เป็นระบบปฏิบัติการที่ย่ำแย่อะไรเลย แต่ที่ไปไม่รอดก็เพราะบังเอิญเปิดตัวออกมาตอนที่ฐานลูกค้าแทบไม่เหลือแล้วเท่านั้นเอง

 

ความเป็นมา

ก่อนที่จะมี BlackBerry10 เคยมี BlackBerry OS มาก่อน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาย้อนไปถึงยุคเพจเจอร์กันเลยทีเดียว เมื่อเวลาผ่านไป ตัว OS ก็ได้พัฒนาไปพร้อมๆ กับฮาร์ดแวร์ จนกระทั่งปี 2012 BlackBerry OS ได้ดำเนินมาถึงเวอร์ชัน 7.1 ซึ่งปรากฏว่าล้าหลังกว่าคู่แข่งอย่าง Android และ iOS มาก ในปีต่อมาจึงเปิดตัว OS ใหม่เอี่ยม BlackBerry10 ออกมาแก้เกม แม้โดยภาพรวมจะประสบความสำเร็จแต่ผู้ใช้กลับไม่ค่อยประทับใจนัก ทำให้มีสมาร์ทโฟนระบบ BlackBerry10 เปิดตัวออกมาเพียง 10 รุ่นเท่านั้น ในท้ายที่สุดแม้จะได้รับการปรับปรุงให้ใช้งานแอปพลิเคชัน Android และมี Amazon App Store แล้วก็ตาม แต่ BlackBerry10 ก็ยังไม่อาจฟื้นตัวกลับมาได้ และในที่สุดก็ถึงคราวต้องอำลาวงการไป

 

จุดเด่นที่น่าจดจำ

BlackBerry 10 มาพร้อมกับ BlackBerry Hub ที่รวมข้อความ การโทร และการแจ้งเตือนเอาไว้ในที่เดียวกัน รองรับฟังก์ชัน Multitasking ที่สามารถย่อแอปพลิเคชันให้เป็น “Active Frame” ได้ ซึ่งสามารถเลือกให้เป็นการย่อหน้าต่าง หรือกลายเป็นวิดเจ็ตกลายๆ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน Balance สำหรับแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวคล้ายกับการสลับผู้ใช้บน PC อีกด้วย

 

ทำไมถึงไปไม่รอด

BlackBerry10 เปิดตัวออกมากู้สถานการณ์ช้าไปนิด แม้ว่าจะมีฟีเจอร์ดีๆ มากมายเพิ่มเข้ามาแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการหดตัวลงของฐานผู้ใช้ได้ แพลตฟอร์มที่ลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ผู้ใช้ระดับธุรกิจเริ่มสูญเสียความมั่นใจ และปัญหาเรื่องแอปพลิเคชันที่แก้ไม่ตกก็ทำให้ผู้ใช้ทั่วไปไม่สนใจจะหันมาใช้ BlackBerry ทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันหมดกำลังใจ กลายเป็นวังวนแห่งความล้มเหลวที่ส่งผลกระทบต่อกันไปเรื่อยๆ แบบโดมิโนและทำให้ BlackBerry 10 ต้องถูกฝังอยู่ในวังวนนี้ไปในที่สุด

 

5. Firefox OS

เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นกับชื่อ OS ตัวนี้หรืออาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะ Firefox OS มีติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระดับล่างในตลาดบางประเทศเท่านั้น และก็มีอายุไม่ยืนเท่าไหร่ด้วย

 

ความเป็นมา

เดิมที Firefox OS เปิดตัวออกมาในชื่อ Boot to Gecko ซึ่ง Gecko นั้นเป็น internal web engine ของ Firefox โดยหมายมั่นปั้นมือให้เป็น OS ที่จะมาจุดประกายยุคสมัยของ Web Applications ที่ใช้งานผ่านเบราเซอร์ให้ลื่นฉลุยเหมือนแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มมือถือทั่วไป จากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Firefox OS พร้อมกับเตรียมนำไปใช้ในอุปกรณ์ของ ZTE, Alcatel, Huawei และ LG แต่พอถึงต้นปี 2016 ทีมพัฒนากลับหันหัวเรือไปมุ่งเน้นอุปกรณ์ต่อพ่วงและ Smart TV แทน และในอีก 8 เดือนต่อมาโปรเจ็คท์นี้ก็เป็นอันถูกเก็บเข้ากรุไปอย่างเงียบๆ และงงๆ

 

จุดเด่นที่น่าจดจำ

เนื่องจาก Firefox OS เน้นการทำงานกับ Web Applications ที่ใช้ web engine เป็นแพล็ตฟอร์ม ต่างจาก OS มือถืออื่นๆ ที่ทำตัวเป็นแพล็ตฟอร์มเสียเองและแอปพลิเคชันต้องพัฒนาให้ลงล็อคกับตัว OS ซึ่ง Web Applications สามารถเปิดใช้ได้ผ่านเบราเซอร์ทำให้ลดความยุ่งยากในการพอร์ตข้ามแพล็ตฟอร์ม ประกอบกับเป็น open source ทำให้ Firefox OS สามารถต่อยอดไปได้ไกลมาก

 

ทำไมถึงไปไม่รอด

Firefox OS มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือตลาดในประเทศกำลังพัฒนา แต่ผู้พัฒนากลับไม่เข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างถ่องแท้ และไม่ได้ตระหนักว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านี้ก็ต้องการฟังก์ชันการทำงานอันหลากหลายเช่นกัน คู่แข่งอย่าง Android มีคลังแอปพลิเคชันที่ใหญ่กว่ามาก พร้อมด้วยฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมายก่ายกองซึ่ง Firefox OS ให้ไม่ได้ นอกจากนี้ตัว Firefox OS ยังเต็มไปด้วยบั๊กและลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าทำไม Firefox OS จึงเห็นจุดจบอยู่รำไรตั้งแต่เริ่มแล้ว

 

ถึงแม้จะ OS ที่ล้มเหลวไปมาก แต่ก็ยังมีการพัฒนา OS ใหม่ๆ อยู่ในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดที่สุดในตอนนี้คือ Tizen ของ Samsung ที่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังมาโดยตลอด นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวลือว่าแบรนด์จีนอย่าง Huawei ก็คิดจะทำ OS ของตัวเองออกมาด้วยเช่นกัน ไม่แน่ว่าในเร็วๆ นี้เราอาจจะได้เห็นความสำเร็จของ OS หน้าใหม่ในวงการก็ได้ครับ
 

---------------------------------------
ที่มา : phonearena.com

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 09/02/2017






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy