ประเด็นการตัดช่องหูฟังใน iPhone 7 และ พอร์ตเชื่อมต่อทั้งหลายใน MacBook Pro 2016 เป็นสิ่งที่ทำให้ Apple ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายคนถึงกับรับไม่ได้และคิดว่า Apple คงบ้าไปแล้วแน่ๆ ที่ตัดสินใจทำอะไรแบบนี้ในช่วงที่ตลาดยังไม่พร้อม แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะผลักดันวงการไอทีให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งไม่ช้าก็เร็วความเปลี่ยนแปลงจะต้องมาถึงอยู่ดี Apple เพียงแค่กล้าที่จะออกจาก safe zone และก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงก่อนใครๆ เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะตามมาด้วยเช่นกัน แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพราะที่ผ่านมา Apple มักจะเป็น "คนแรก" ที่กล้าทำอะไรที่คนอื่นไม่กล้าทำเสมอ และเปลี่ยนโลกแห่งนวัตกรรมไปหลายต่อหลายครั้ง และนี่คือ 5 สิ่งที่ Apple กล้าตัดทิ้ง และทำให้วงการไอทีพัฒนามาถึงทุกวันนี้ได้ครับ
1. ปากกาสไตลัส
หลายปีก่อน มือถือไฮเอนด์แบบทัชสกรีนและปากกาสไตลัสเป็นของคู่กันและไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะหากไม่มีปากกา เราจะไม่สามารถสั่งงานอะไรบนมือถือได้เลยเพราะเทคโนโลยีทัชสกรีนสมัยนั้นยังไม่รองรับการสัมผัสด้วยนิ้วมือ ถึงแม้ในยุคนั้นจะไม่มีใครบ่นอะไรก็ตาม แต่ สตีฟ จ็อบส์ มองไปไกลกว่านั้น เขาคิดว่าการที่มือถือทัชสกรีนต้องพึ่งพาปากกาสไตลัสเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ถึงกับพูดออกมาตรงๆ ว่า “ถ้าคุณเห็นปากกาสไตลัสล่ะก็ พวกเขา (ผู้ผลิต) ทำพลาดแล้ว” และก็ไม่พูดเปล่า Apple ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีทัชสกรีนยุคใหม่ที่เรียบง่ายยิ่งกว่า สามารถใช้งานด้วยนิ้วมือได้อย่างแม่นยำและลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องพึ่งสไตลัสอีกต่อไป และนี่เองก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้ iPhone และ iPad ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและปฏิวัติวงการมือถือและแก็ดเจ็ตไปตลอดกาล นอกจากนี้ Apple ยังออกแบบระบบปฏิบัติการ iOS ให้เหมาะสมกับการทำงานบนทัชสกรีนที่สุด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลายๆ แบรนด์ก็เริ่มที่จะทำตามแนวคิดนี้ ส่วนปากกาสไตลัสก็ถูกลดความสำคัญลงกลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่เน้นใช้งานเฉพาะด้านแทน เช่น Apple Pencil ที่รองรับแรงกดหลายระดับและมีความละเอียดรวดเร็วเป็นพิเศษสำหรับใช้ทำงาน digital painting ไม่ใช่มีไว้เพื่อจิ้มจอเฉยๆ อีกต่อไป
2. ปุ่มกดบนมือถือ
สตีฟ บัลเมอร์ อดีต CEO ของไมโครซอฟต์ เคยหัวเราะเยาะ iPhone รุ่นแรกเอาไว้ว่าไม่มีทางทำให้ผู้ใช้ระดับธุรกิจเหลียวตามามองได้แน่ๆ เพราะไม่มีปุ่มกด (ซึ่งภายหลังเขาก็ออกมายอมรับว่า เขาคิดผิด) อย่างที่รู้กันว่า iPhone ที่เปิดตัวออกมาครั้งแรกนั้นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และการที่ไม่มีปุ่มกดก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รังเกียจแต่อย่างใด หลังจากนั้นเป็นต้นมา กลายเป็นไมโครซอฟต์เองที่ต้องผลักดันตัวเองเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนด้วยสมาร์ทโฟนที่ไม่มีปุ่มกดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในวันนี้ ปุ่มกดก็ไม่มีที่ยืนในวงการสมาร์ทโฟนอีกต่อไป และกลายไปเป็นสัญลักษณ์ของฟีเจอร์โฟนแทน ยกเว้นสมาร์ทโฟนบางแบรนด์ที่ดึงเอาคีย์บอร์ด physical มาเป็นจุดขายอย่างเช่น Blackberry Priv เป็นต้น (ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอดอยู่ดี)
3. การขายซอฟต์แวร์เป็นกล่องๆ
เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้คงยังไม่เคยซื้อซอฟต์แวร์ต่างๆ แบบเป็นกล่องมาก่อนแน่ ถ้าถามเด็กสมัยนี้เด็กคงไม่เข้าใจ ทำไมเราต้องเดินไปซื้อโปรแกรมเป็นกล่องๆ แกะเอาแผ่นมาติดตั้งลงเครื่องให้เมื่อย ในเมื่อเราแค่กดปุ่ม “ซื้อ” และ “ดาวน์โหลด” จากบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ทุกอย่างก็เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อสิบปีก่อนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แท้ล้วนแต่บรรจุมาในกล่องเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะติดตั้งลงเครื่องก็ต้องติดตั้งจากแผ่นที่อยู่ในกล่องเท่านั้น จนกระทั่งราวปี 2008 Apple เปิดตัว App Store ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรูปแบบร้านค้าซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันออนไลน์ อยากได้อะไรก็ดาวน์โหลดเอา ไม่ต้องเสียเวลาไปหาซื้อ ไม่ต้องแกะกล่อง ไม่ต้องเก็บแผ่น ไม่ต้องรอของมาส่ง ทุกอย่างรวดเร็วทันใจเพียงแค่ไม่กี่คลิก ไม่นานหลังจากนั้นคู่แข่งอย่าง Android ก็รีบทำตามบ้างด้วยการเปิด Android Market ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Google Play Store ในภายหลัง ส่วนไมโครซอฟต์เป็นแบรนด์สุดท้ายที่เปิดสโตร์ของตัวเอง ในชื่อ Windows Marketplace มาถึงจุดนี้ หากให้นึกย้อนกลับไปในอดีตถึงการสั่งซื้อตัวซอฟต์แวร์เป็นกล่องๆ เราก็คงจะนึกไม่ออกกันแล้วแน่ๆ
4. Task Manager
ในอดีตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้งานง่ายเหมือนทุกวันนี้ ราวๆ สิบปีก่อน interface ของอุปกรณ์ไอทีไม่ได้เข้าใจง่ายเหมือนในปัจจุบัน และบ่อยครั้งที่ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้ Task Manager ในการบริหารจัดการโปรแกรมต่างๆ ที่กำลังรันอยู่ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ว่ามันน่ารำคาญและลำบากขนาดไหนสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ใช่เซียนคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับ Apple ประสบการณ์การใช้งานที่ผู้ใช้จะได้รับมันต้องเรียบง่ายกว่านั้น “สำหรับการทำงานแบบ multitasking ถ้าคุณเห็น task manager...พวกเขาทำพลาดแล้ว ผู้ใช้ไม่สมควรที่จะต้องไปคิดถึงของแบบนั้นแม้แต่น้อย” สตีฟ จ็อบส์ ได้กล่าวไว้ และมันถูกจดจำต่อๆ กันมาในวงการไอทีราวกับเป็นคำขวัญประจำใจ การลดความสำคัญของ task manager ทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมและเรียบง่ายอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ Apple มาจนถึงทุกวันนี้
5. ช่องใส่ floppy disk, CD / DVD และอื่นๆ
แผ่น floppy disk กลายเป็นไอเทมในตำนานที่เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักกันไปแล้ว เมื่อสิบกว่าปีก่อน แผ่นดิสก์สี่เหลี่ยมที่เก็บข้อมูลได้แค่ 1.4 mb เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน รวมไปถึงการใช้งานทั่วไปในบ้าน จนกระทั่งปี 1997 เมื่อสตีฟ จ็อบส์ ได้หวนกลับมานั่งเก้าอี้ผู้บริหาร Apple อีกครั้ง เขาได้เปิดตัว iMac ที่มาพร้อมกับช่องอ่าน CD / DVD แต่กลับไม่มี floppy drive เป็นก้าวแรกแห่งจุดจบของแผ่น floppy disk และอีก 10 ปีต่อมา ในปี 2008 Apple ก็ได้เปิดตัว MacBook Air แล็ปท็อปบางเฉียบที่ไม่มีไดรฟ์ CD / DVD ซึ่งก็นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้ CD / DVD ถูกลดความสำคัญลงไปจนกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปซะแล้วในตอนนี้ แม้ปัจจุบันจะมีแล็ปท็อปที่มาพร้อมช่องใส่ CD / DVD อยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะผู้ใช้มีตัวเลือกมากมายในการเก็บข้อมูลที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น cloud storage, flashdrive, SD Card และอื่นๆ อีกมากมาย
กลับมาที่การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดของ Apple ในวันนี้ การตัดพอร์ตต่างๆ ออก อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า Apple พยายามที่จะ "go wireless" พาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีไร้สายโดยสมบูรณ์ในอนาคต การตัดสินใจในขณะที่โลกยังไม่พร้อมเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แต่ทุกการเปลี่ยนแปลง Apple ก็ต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด และสุดท้ายก็ก้าวข้ามมันไปได้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า Apple จะประสบความสำเร็จและเปลี่ยนโลกเหมือนในอดีตได้อีกครั้งหรือไม่
---------------------------------------
ที่มา : Phone Arena
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 14/11/2016
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |