หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

9 เครื่องเกมคอนโซลที่ไปไม่รอดและถูกลืมไปจากวงการ พร้อมเรื่องราวเบื้องหลังที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คนที่อ่านบทความนี้อยู่คงเคยผ่านความสนุกของเกมคอนโซลต่างๆ มาบ้างอย่างน้อยสักรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเกมต่อทีวีอย่าง Nintendo Family เกมพกพาอย่าง Game Boy หรือคอนโซลยอดฮิต PlayStation และคงมีความทรงจำดีๆ กับมันมากมาย เหล่านั้นคือเกมคอนโซลที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำอยู่ในใจของเกมเมอร์ทุกคน แต่ในวันนี้เราจะขอพาทุกคนไปพบกับเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของเกมคอนโซลที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันกันบ้าง และนี่คือ 9 เกมคอนโซลที่ไปไม่รอดและถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์พร้อมเรื่องราวเบื้องหลังที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนครับ

 

1. Panasonic 3DO (1993)

ปี 1993 Panasonic 3DO เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผลิตภัณฑ์แห่งปี" จากนิตยาสาร Times แต่ใครจะไปรู้ว่าอีก 3 ปีต่อมามันกลับไปไม่รอดซะอย่างนั้น Panasonic 3DO จัดว่าเป็นเกมคอนโซลที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นสุดๆ ในยุคนั้น ซึ่งราคาของมันก็สูงสมน้ำสมเนื้อที่ $700 หรือราวๆ 23,000 บาท ราคานี้ทำให้ 3DO แข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง SEGA และ Nintendo ได้ยาก แถมยังหาเกมมาลงแบบ exclusive ไม่ได้อีก จนแล้วจนรอด 3DO ก็มีเกมมารองรับแค่เกมเดียวเท่านั้น คือเกมแข่งรถในตำนาน Crash N Burn ความนิยมของคอนโซลเครื่องนี้จึงเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว และถูกลืมไปอย่างถาวรเมื่อ Sony เปิดตัวคอนโซล PlayStation ออกมา

 

2. Virtual Boys (1995)

Virtual Boys เป็นเกมคอนโซลของ Nintendo ที่หน้าตาเหมือนแว่น VR หรือ Oculus Rift กราฟิกในเกมจะมีความลึกแตกต่างจากเกมทั่วไป คงไม่ต้องบอกว่ามันล้ำขนาดไหนสำหรับวงการเกมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่เหมือนข้ามเวลามา Virtual Boys ก็ยังไปไม่รอดอยู่ดี เหตุผลที่ทำให้คอนโซลรุ่นนี้กลายเป็นดาวดับแสงมีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของตัวเครื่องที่ค่อนข้างใหญ่ เล่นนานๆ แล้วเมื่อยคอเพราะมีแต่ขาตั้งเตี้ยๆ กราฟิกสีดำ-แดงที่ชวนปวดหัวปวดตา และแล้ว Nintendo ก็จำต้องปิดตำนาน Virtual Boys ลงหลังจากวางขายไปไม่ถึงปีเท่านั้น

 

3. SEGA Saturn (1995)

SEGA Saturn เป็นเกมคอนโซลที่เด็กยุค 90 หลายคนไม่เคยได้สัมผัส เพราะมันไม่ค่อยนิยมในบ้านเราเท่าไหร่นัก และประวัติความเป็นมาของมันก็ทุลักทุเลพอสมควร เริ่มตั้งแต่ SEGA กลัว Sony จะส่งคอนโซลมาแย่งตลาดก่อน จึงรีบดัน SEGA Saturn ออกมาก่อนกำหนด ทำเอาร้านจำหน่ายเครื่องเกมรายย่อยและผู้พัฒนาเกมต้องวุ่นวายกันไปหมด แถมลูกค้าก็หงุดหงิดเพราะเปิดตัวแล้วแต่ของยังมาไม่ถึงร้านสักที ความฉุกละหุกนี้เองทำให้มีเกมออกมารองรับตอนเปิดตัวน้อยมาก ที่สำคัญคือไม่มีเกม Sonic the Hedgehog ซึ่งเป็นซีรีส์คู่บุญของ SEGA (พอๆ กับที่ Nintendo มี Mario) SEGA Saturn แข่งขันในตลาดอย่างล้มลุกคลุกคลานจนสุดท้าย SEGA ก็ตัดสินใจหยุดการจำหน่าย SEGA Saturn แล้วหันไปโฟกัสที่คอนโซลรุ่นใหม่อย่าง Dreamcast แทน

 

4. Apple Pippin (1996)

หลายคนอาจจะไม่รู้มาก่อนว่า Apple ก็เคยทำเกมคอนโซลเหมือนกัน นั่นคือเครื่อง Pippin ซึ่งเปิดตัวในปี 1996 โดยให้บริษัทผลิตของเล่นจากญี่ปุ่น Bandai เป็นผู้ผลิตให้โดยใช้แพลตฟอร์ม Macintosh เป็นพื้นฐาน แต่เอาเข้าจริง Apple กลับไม่ค่อยจริงจังกับโปรเจ็คท์นี้เท่าไหร่ ปล่อยให้ Bandai จัดการเรื่องการผลิตและทำตลาดเอง นอกจากนี้ Pippin ยังมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับคอนโซลอื่นๆ เกมที่มีให้เล่นก็น้อย และช่วงนั้นตลาดก็มีคู่แข่งมาก สุดท้ายแล้ว Pippin ก็ขายได้แค่ 42,000 เครื่องเท่านั้น และเมื่อ Steve Jobs กลับมานั่งบอร์ดบริหาร Apple อีกครั้งในปี 1997 เขาก็พับโปรเจ็คท์ Pippin ลงไปเป็นการถาวร

 

5. Nokia N-Gage (2003)

ก่อนจะถึงยุคของสมาร์ทโฟน เกมกับมือถือยังไปด้วยกันได้ไม่ดีเท่าไหร่ ทั้งคุณภาพกราฟิกที่จำกัด และการควบคุมด้วยปุ่มตัวเลขที่เงอะงะ แต่แล้วในปี 2003 Nokia ก็ได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการเกมมือถือด้วย Nokia N-Gage มือถือสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ โดยปรับดีไซน์เป็นแนวนอนให้จับสะดวก และจัดวางปุ่มต่างๆ มาให้คล้ายกับจอยสติ๊กเพื่อการควบคุมที่ลื่นไหล พร้อมทั้งดึงเกมดังๆ อย่าง Tomb Raider มาลงด้วย สร้างความฮือฮาให้กับวงการมือถืออยู่พักหนึ่ง และในปี 2004 Nokia ก็ปรับปรุงดีไซน์ของมันให้ดียิ่งขึ้นแล้วเปิดตัวออกมาเป็น N-Gage QD แต่สุดท้ายแล้ว N-Gage ทั้ง 2 รุ่นกลับทำยอดขายได้ไม่ดีนัก จน Nokia ตัดสินใจปิดฉากมือถือซีรีส์นี้ไปอย่างน่าเสียดายในปี 2006

 

6. The Phantom (2004)

ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นเกมคอนโซลที่ไปไม่รอดได้ไหมสำหรับ The Phantom เพราะจริงๆ แล้วมันไม่เคยเปิดตัวออกมาเลยด้วยซ้ำ The Phantom เป็นโปรเจ็คท์ของ Phantom Entertainment ที่ตั้งเป้าให้เป็นคอนโซลสเปกสูง และสามารถดาวน์โหลดเกมมาลงเครื่องได้โดยไม่ต้องไปซื้อแผ่นให้ยุ่งยาก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในยุคนั้น แต่แล้วเหล่าเกมเมอร์ก็ต้องรอเก้อเพราะ Phantom Entertainment เลื่อนเปิดตัวคอนโซลเครื่องนี้ออกไปปีแล้วปีเล่า จนสุดท้ายก็ไม่มีใครได้เห็น The Phantom จริงๆ เลยสักคน จนกลายเป็น "vaporware" หรือผลิตภัณฑ์ที่เลื่อนเปิดตัวจนหายจ้อยในตำนานของวงการเกมมาจนถึงทุกวันนี้

 

7. Gizmondo (2005)

Gizmondo เป็นเกมคอนโซลพกพาที่พัฒนาโดย Tiger Telematics ซึ่งสื่อต่างๆ ได้ตั้งความหวังกับมันเอาไว้สูงมากว่ามันจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Nintendo และ Sony เมื่อถึงวันเปิดตัว Tiger Telematics ก็ทุ่มทุนโปรโมตแบบอลังการงานสร้างด้วยการจัดปาร์ตี้รวมเซเล็บในลอนดอน หมดเงินไปนับล้านเหรียญ แต่พอเอาเข้าจริง Gizmondo กลับทำยอดขายได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินแค่ 25,000 เครื่องเท่านั้น และ Tiger Telematics ต้องแบกหนี้ก้อนโตถึง $300 ล้านเหรียญ (เกือบๆ หมื่นล้านบาท) จากการทุ่มโปรโมตรอย่างไม่บันยะบันยัง ซ้ำร้ายผู้บริหารบางคนยังถูกแฉว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก็งค์มาเฟียสวีเดน จน CEO ของ Tiger Telematics ต้องลาออก สุดท้ายบริษัทก็ล้มละลายและปิดฉากลงไปพร้อมกับ Gizmondo จะเรียกว่าคอนโซลเครื่องนี้มีชะตากรรมที่น่าสงสารที่สุดก็ว่าได้

 

8. Wii U (2012)

หลังจากที่ Nintendo ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับเครื่อง Wii ก็ได้นำความสำเร็จนี้มาต่อยอดเป็น Wii U คอนโซลกึ่งพกพาในรูปแบบของแท็บเล็ตหน้าจอสัมผัสและจอยบังคับอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ทว่า Wii U กลับมีจุดขายที่ไม่ชัดเจน และขายได้เพียง 13 ล้านเครื่องใน 5 ปี แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่ย่ำแย่มาก แต่ก็ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ จนกระทั่งในปี 2017 Nintendo ก็ตัดสินใจปิดฉาก Wii U เพื่อเปิดทางให้กับเครื่องเกมพกพาเจเนอเรชันใหม่ Nintendo Switch ที่มีจุดขายชัดเจนกว่า และตอนนี้ก็ดูท่าจะไปได้สวยทีเดียว

 

9. Ouya (2013)

จริงๆ แล้ว Outya ก็ไม่ถือว่าล้มเหลวเสียทีเดียว เพราะหากมองในมุมของโปรเจ็คท์ Kickstarter แล้ว Ouya ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนติด 1 ใน 10 โปรเจ็คท์ระดมทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่เคยมีมา Ouya เป็นเกมคอนโซลระบบ Android ราคาไม่แพงแค่ $99 หรือราวๆ 3,200 บาทเท่านั้น แต่มันกลับไม่ค่อยมีเกมให้เล่นและไม่เป็นที่นิยมในสังคมเกมเมอร์เท่าที่ควร ยอดขายจึงไม่ดีตามไปด้วย ทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินและปิดกิจการไปในที่สุด พร้อมกับขายซอฟต์แวร์ให้ Razor แบรนด์เกมมิ่งเกียร์ชื่อดัง ซึ่ง Razor ก็ได้ประกาศยุติการสนับสนุนคอนโซล Ouya อย่างเป็นทางการในปี 2015 ส่งให้ Ouya ขึ้นทำเนียบเกมคอนโซลอายุสั้นไปอีก 1 ราย

 

---------------------------------------
ที่มา : Techcrunch, Gizmodo (1), (2)

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 04/08/2017

PlayStation Game Console Fail






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy