ปกติแล้ว ทุก ๆ ครั้งที่มีการเข้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม หรือเว็บไซต์ที่จะต้องเข้าใช้งานด้วยการใส่รหัสผ่าน อย่างเช่น เช็คอีเมล หรือ Facebook หลาย ๆ ท่านคงจะสังเกตเห็นว่า หลังคำ http นั้นจะมีตัว s ต่อท้ายเป็น https ซึ่งตัว s นี้หมายถึง secure หรือความปลอดภัยนั่นเอง เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า เว็บไซต์ที่กำลังใช้งานอยู่นี้ มีการเข้ารหัสและไม่เสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูล (สังเกตง่าย ๆ จากไอคอนรูปแม่กุญแจ หมายถึงเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัส) แต่ล่าสุด ได้มีนักวิจัยท่านหนึ่ง ได้พบการวิธีการทำ Phishing หรือการโจรกรรมข้อมูลด้วยสร้างเว็บปลอม เพื่อดึงเอาข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ไป
โดย Xudong Zheng นักวิจัยจากประเทศจีน ได้ค้นพบวิธีการทำ Phishing ด้วยการอาศัยช่องโหว่ของ Chrome, Firefox และ Opera เพื่อแสดงโดเมนหลอก ซึ่ง Xudong Zheng ได้ลองทดสอบด้วยการสร้างโดเมนหนึ่งขึ้นมา https://www.xn--80ak6aa92e.com ซึ่งถ้าหากเปิดด้วย Safari ตรง URL นั้นจะแสดงค่าเป็นชื่อของเว็บไซต์นั้นตรงตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่เปิดด้วย Chrome, Firefox หรือ Opera ตรง URL จะแสดงเป็นเว็บไซต์ https://www.apple.com แทน ซึ่งถ้าหากไม่สังเกต ก็คงเข้าใจว่ากำลังเข้าใช้งานบนเว็บไซต์ของ Apple อยู่จริง ๆ และเสี่ยงต่อการโดนขโมยข้อมูลได้ง่ายอีกด้วย
สำหรับวิธีการโจมตีแบบนี้ เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Homograph Attack ด้วยการอาศัยช่องโหว่ของการจดทะเบียนโดเมนโดยใช้ภาษาอื่น นอกเหนือจากตัวอักษรแบบ ASCII (American Standard Code for Information Interchange : แอสกี้) นั่นเอง ซึ่งจากชื่อเว็บไซต์ที่ Xudong Zheng ได้สร้างมาข้างต้นนั้น แม้จะแสดงชื่อเป็น apple.com เหมือนกัน แต่ตัวอักษร a นั้นแตกต่างกัน เนื่องจากอักษร a บน xn--80ak6aa92e.com นั้น ใช้ตัวอักษร Cyrillic (U+0430) แทนที่จะเป็นตัวอักษร ASCII (U+0041) ทำให้เมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกส่งไปยัง www.xn--80ak6aa92e.com แทนที่จะเป็น www.apple.com
ทดสอบด้วย Chrome (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
ทดสอบด้วย Safari (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
โดยทีมงานได้ลองทดสอบด้วยการเข้าเว็บไซต์ www.xn--80ak6aa92e.com บน Safari และ Chrome จะเห็นว่า บน Safari นั้น แสดง URL เป็น www.xn--80ak6aa92e.com ในขณะที่บน Chrome แสดง URL เป็น www.apple.com ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ที่ใช้ Chrome จะไม่มีทางทราบได้เลยว่า เว็บไซต์ที่กำลังเข้าใช้งานอยู่นั้น เป็นเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขโมยข้อมูล
อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีการป้องกันเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เผลอเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวได้ ด้วยการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ดังกล่าวเอง หรือคลิกจากที่ตั้งค่าไว้ใน Bookmarks และไม่แนะนำให้คลิกจากเว็บไซต์ภายนอก รวมไปถึงลิงก์ต่าง ๆ ที่แนบมากับอีเมล เพราะในบางครั้งลิงก์ที่ถูกแนบมาเหล่านี้ อาจจะเป็นลิงก์ที่โยงไปสู่เว็บไซต์ปลอมก็เป็นได้
---------------------------------------
ที่มา : 9to5mac.com
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 21/04/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |