จากการประเมินจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายมากถึง 20 ล้านคนต่อปีนั้น ล่าสุด นับว่าเป็นข่าวดีของวงการแพทย์ เมื่อมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Nottingham ในสหราชอาณาจักร สามารถพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับ Machine Learning ที่สามารถคาดเดาความเสี่ยงของการเกิดอาการหัวใจวายได้แม่นยำกว่าแพทย์เสียอีก
โดยทางวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Cardiology/American Heart Association : ACC/AHA) ได้พัฒนาชุดของแนวทางในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยอ้างอิงตัวแปรทั้งหมด 8 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย อายุ, ระดับคลอเรสเตอรอล และความดันเลือด ซึ่งมีความแม่นยำเฉลี่ยอยู่ที่ 72.8%
จากตัวเลขข้างต้น ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มที่ค่อนข้างดีแล้ว แต่ Stephen Weng และทีมวิจัยสามารถทำได้ดีกว่านั้น ด้วยการสร้างอัลกอริทึมสำหรับการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ หรือ Computer Learning Algorithms ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน และป้อนข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 378,256 คนในประเทศอังกฤษลงไป จากนั้นระบบจะใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยราว ๆ 295,000 รายการในการสร้างโมเดล จากนั้นนำมาทดสอบและหาค่าสุทธิ และพบว่า ผลที่ได้นั้น มีความแม่นยำถึง 74.5% – 76.4% สูงกว่าแนวทางของ ACC/AHA ราว ๆ 7.6% และเกิดการคาดเดาผิดพลาดน้อยลงอีก 1.6%
จากตัวอย่างการทดสอบบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยราว ๆ 83,000 รายการนั้น พบว่า สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 355 คน และความน่าสนใจก็คือ ระบบ AI นั้น สามารถพบตัวเลขของปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่ทาง ACC/AHA ระบุไว้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น อาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง และการรับประทานยาประเภทสเตียรอยด์ เป็นต้น
---------------------------------------
ที่มา : engadget.com
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 19/04/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |