หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

กล้านั่งกันไหม? อุตสาหกรรมการบินเตรียมนำ "เครื่องบินไร้คนขับ" มาใช้ภายในปี 2025 หวังรับมือปัญหานักบินขาดแคลน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี

รถยนต์ไร้คนขับไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไปแล้วในยุคนี้ เพราะมีการค้นคว้าวิจัยกันอย่างจริงจังและมีผลงานออกมาให้เห็นมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Google Car, ระบบ Autopilot ของรถยนต์ Tesla แม้กระทั่ง Uber ก็ยังมีโครงการพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับเป็นของตัวเอง ซึ่งจากการทดสอบที่ออกมา AI ก็มีพัฒนาการด้านการควบคุมรถที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคนรู้สึกปลอดภัยกว่าการขับเองด้วยซ้ำ ข่าวดีก็คือเทคโนโลยีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รถยนต์อย่างเดียว แต่จะถูกนำไปใช้กับเครื่องบินโดยสารด้วยครับ

ธนาคาร UBS จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์รายงานว่า อุตสาหกรรมการบินอาจเริ่มนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ในปี 2025 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและรับมือกับปัญหาขาดแคลนนักบินในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังทำให้การบินปลอดภัยยิ่งขึ้น และทำให้ค่าตั๋วถูกลงอีกประมาณ 11% ด้วย

เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้ ไม่เหมือนกับระบบ autopilot ในปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีนักบินคอยควบคุมอีกทีหนึ่ง แต่เป็นระบบที่ทำทุกอย่างโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่ขึ้นบิน (takeoff) ไปจนถึงลงจอดในรันเวย์ (landing) โดยที่ไม่ต้องมีนักบินนั่งไปด้วยเลยแม้แต่คนเดียว

ปัญหาก็คือ จะมีใครกล้านั่งหรือเปล่า?

จากการสำรวจความคิดเห็นจำนวน 8,000 คนทั่วโลกโดย UBS พบว่ามีเพียง 17% เท่านั้นที่อยากจะนั่งเครื่องบินไร้คนขับ ในขณะที่ผู้ร่วมสำรวจกว่าครึ่งบอกว่าจะไม่ยอมซื้อตั๋วแน่ๆ ต่อให้มีราคาถูกกว่าก็ตาม เมื่อพิจารณาลึกลงไปในสถิติที่ปรากฏยังทำให้เห็นอีกว่า ทัศนคติที่มีต่อเครื่องบินไร้คนขับนั้นขึ้นอยู่กับอายุและสัญชาติ คนหนุ่มสาวอายุ 18-34 ปีและคนที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะอยากลองนั่งมากกว่า ในขณะเดียวกัน ชาวเยอรมันและชาวฝรั่งเศสมีแนวโน้มจะไม่อยากนั่ง แต่ชาวอเมริกันกลับมีแนวโน้มจะอยากลองนั่งมากกว่า แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่พร้อมจะลองนั่งเครื่องบินไร้คนขับก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมการบินจึงต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรอีกมากในการโน้มน้าวใจผู้คนให้เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ หากต้องการนำมันมาใช้จริงๆ

เทคโนโลยีการบินอัตโนมัติเริ่มนำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารกันบ้างแล้ว เช่นโดรนแท็กซี่ที่ดูไบ แต่บริบทยังต่างกับเครื่องบินโดยสารอย่างสิ้นเชิง เพราะโดรนเป็นการบินระยะสั้น และมีความซับซ้อนน้อยกว่า แต่เครื่องบินโดยสารเป็นการบินระยะไกลนานหลายชั่วโมง และบินในระดับสูงมาก อาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนหรือปัญหาซับซ้อนอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณของนักบินในการแก้ปัญหา จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะยังไม่ไว้ใจให้ AI พาบิน

นักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีนี้จะเริ่มนำมาใช้กับเครื่องบินขนส่งก่อนเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผู้คนทั่วไป และเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถบินถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย เมื่อคนส่วนใหญ่มั่นใจในความปลอดภัยแล้ว ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนนักบินลง จากลำละ 2 คนเหลือเพียงคนเดียว และไม่มีเลย

อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะขาดแคลนนักบิน ซึ่งในปี 2035 อาจมีตำแหน่งนักบินว่างถึง 600,000 ตำแหน่ง การนำเทคโนโลยีบินอัตโนมัติมาใช้จะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตินี้ได้ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับสายการบินต่างๆ แล้วว่าจะโน้มน้าวผู้โดยสารได้มากแค่ไหนครับ

 

---------------------------------------
ที่มา : Mashable

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 08/08/2017

Autonomous Plane





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy