หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

เช็คข่าวปลอมบน Facebook ด้วยปลั๊กอิน B.S. Detector บนเบราเซอร์ Chrome อีกก้าวหนึ่งของการต่อสู้กับข้อมูลขยะบนโซเชียลมีเดีย ลองโหลดมาใช้กันได้แล้ววันนี้

ข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลไหลผ่านหน้าฟีด Facebook เราทุกวัน มีไม่น้อยที่เป็นข้อมูลขยะและข่าวโคมลอยที่ไม่มีเค้ามูลความจริง ซึ่งนอกจากจะทำให้สังคมออนไลน์ไขว้เขวแล้ว ความรู้ผิดๆ บางอย่างยังเป็นอันตรายอีกด้วย (เช่นโซดามะนาวแก้มะเร็ง) การเสพข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียจึงต้องใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษ แต่ในเร็วๆ นี้การคัดกรองข่าวสารในโซเชียลมีเดียอาจง่ายขึ้นกว่าเดิม ด้วย B.S. Detector ปลั๊กอินเสริมสำหรับเบราเซอร์ Chrome ที่สามารถเตือนเราได้ว่าข่าวไหนบน Facebook อาจจะเป็นข่าวปลอมครับ

B.S. Detector จะแสดงแถบสีแดงดังที่เห็นในภาพด้านบนเพื่อแจ้งเตือนให้เรารู้ว่าข่าวนี้อาจจะเป็นข่าวปลอม โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายชื่อโดเมนต่างๆ ซึ่งมีทีมงานคอยตรวจสอบและจัดประเภทอยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่สามารถยืนยันความแม่นยำได้ 100% แต่ก็น่าจะคัดกรองข่าวปลอมบน Facebook ออกไปได้เยอะทีเดียว B.S. Detector จะจัดประเภทโดเมนต่างๆเอาไว้ดังนี้

  • Fake News (ข่าวปลอม) : แหล่งข่าวที่ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อป่วนโซเชียลมีเดีย
  • Satire (เสียดสี) : แหล่งข่าวที่เขียนข่าวขึ้นมาเองโดยล้อเลียนสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนั้น และไม่ใช่ข่าวจริง
  • Extreme Bias (อคติสุดขั้ว) : แหล่งข่าวที่มักจะมีอคติรุนแรงและบิดเบือนข่าวสารให้ร้ายอีกฝ่าย โดยเฉพาะด้านการเมือง
  • Conspiracy Theory (ทฤษฎีสมคบคิด) : แหล่งข่าวที่เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ซึ่งมักจะไม่มีมูลความจริง
  • Rumor Mill (ข่าวลือ) : แหล่งข่าวที่มักจะเผยแพร่ข่าวลือโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  • State News (ข่าวสารรัฐบาล) : แหล่งข่าวที่อยู่ภายใต้การควมคุมหรือกดดันของรัฐบาล
  • Junk Science (วิทย์ขยะ) : แหล่งข่าวที่เผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบมั่วๆ
  • Hate Group (กลุ่มผู้เกลียดชัง) : แหล่งข่าวที่เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เหยียดผิว และอื่นๆ

B.S. Detector สามารถติดตั้งได้ง่ายๆ ผ่านทาง Chrome Web Store แต่ก่อนจะทำการติดตั้ง ต้องขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า B.S. Detector เป็นโปรเจ็คท์ที่ยังอยู่ในช่วงทดสอบเท่านั้น การทำงานจึงอาจจะไม่เสถียร และอาจทำให้ Chrome ทำงานผิดปกติได้ หากพบความผิดปกติหลังจากติดตั้ง เช่น Chrome ทำงานช้าลง ก็ให้ Uninstall ตัวปลั๊กอินออกไปก่อนครับ


ตัวอย่างลิงค์ข่าวที่โดนหมายหัวไว้ว่าเป็นข่าวปลอม (Classification Pending หมายถึงกำลังตรวจสอบ)

จากการทดลองใช้งานด้วยตนเอง พบว่าในตอนนี้ B.S. Detector สามารถเช็คข่าวปลอมที่มาจากต่างประเทศได้เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์ที่มีโดเมนอยู่ในสหรัฐอเมริกา ลิงค์ข่าวปลอมและคลิกเบทของไทยยังไม่ขึ้นแจ้งเตือน คาดว่าเป็นเพราะทางผู้พัฒนาต้องตรวจสอบรายชื่อเว็บไซต์และจัดประเภทด้วยตนเองจึงขยายฐานข้อมูลได้ช้า สำหรับใครที่มีความสามารถทางคอมพิวเตอร์ สามารถเข้าไปช่วยชี้เป้าเว็บไซต์คลิกเบทในไทยและแนะนำผู้พัฒนาได้ผ่านทาง Github และ Gitter ครับ

---------------------------------------
ที่มา : GitHub B.S. Detector Project , TechCrunch

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 02/12/2016

facebook





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy