ยังคงเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้ สำหรับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากไวรัสประเภทนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดย WHO เผยว่า เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดผ่านทางละออง หรือของเหลวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่จะผ่านทางการไอหรือจาม และเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของละอองเหล่านี้ได้ดี โดยเฉพาะในโรงพยาบาลพวกห้อง ICU หรือ CCU ฉะนั้น บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง แต่ทั้งนี้ ไวรัสแต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความร้อน, ความชื้น และอุณหภูมิด้วยเช่นกัน
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวเรื่องไวรัสแพร่ในอากาศ โดยระบุว่า ไวรัสทุกชนิดไม่มีชีวิตและไม่ใช่เซลล์ ฉะนั้น ความคงทนของไวรัสก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นไวรัสชนิดใด โดยถ้าเป็น Enveloped Virus หรือไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม เช่น COVID-19 จะมีความทนทานน้อยกว่าไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งความคงทนนั้นขึ้นอยู่กับ ภาวะ, อุณหภูมิ และความชื้นของแต่ละที่ ฉะนั้น จะใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับทุกประเทศไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน และในเดือนมีนาคม-เมษายน อากาศจะแห้ง ความคงทนของไวรัสจะน้อยลง
ถ้าหากดูผลการศึกษาของคุณหมอ Wang Zhou และทีมวิจัยจาก The Wuhan Center for Disease Control and Prevention จะพบว่าไวรัสมีความคงทนที่แตกต่างกัน โดยจะเห็นว่า ที่อุณหภูมิ 77 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 25 องศาเซลเซียส ไวรัสจะอยู่ในอากาศได้เพียง 2-3 นาที ซึ่งในไทยอุณหภูมิห้องจะอยู่ที่ราว ๆ 30 องศาเซลเซียส ทำให้ไวรัสไม่สามารถอยู่ได้นานกว่า 1-2 นาที ฉะนั้นโอกาสที่จะติดเชื้อทางอากาศนั้นจะน้อยมาก ยกเว้นในห้องประชุมที่ติดแอร์ และมีคนอยู่เยอะ ดังนั้นจึงไม่ควรเปิดแอร์เย็นเกินไป
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่า การระบาดของไวรัสในประเทศเขตร้อน จะน้อยกว่าประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เพราะถ้าหากมีมาตรการในการป้องกันที่ไม่ดี ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้เช่นกัน
-------------------------------------
ที่มา : cnbc.com , Surasak Wongratanacheewin
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 24/03/2020
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |