หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

อากาศร้อน ช่วยหยุดยั้งการระบาดของไวรัสได้จริงหรือ ?

จากผลการศึกษาของนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Sun Yat-sen ในประเทศจีน ที่เผยว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีความเปราะบางต่ออากาศร้อน และระบาดได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น นั่นหมายความว่า เมื่อย่างเข้าสู่หน้าร้อน การระบาดของไวรัสตัวนี้จะเริ่มซาลง แต่ทั้งนี้ ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า อากาศร้อน จะช่วยหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างที่คาดการณ์ไว้จริงหรือไม่

 

สาเหตุที่สมมติฐานข้างต้นถูกคาดเดาว่าน่าจะเป็นความจริง ถ้าหากดูที่เว็บไซต์การติดตามการระบาดของไวรัสโควิด 19 แบบเรียลไทม์ของ Johns Hopkins University จะเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อยู่ในประเทศที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 3-13 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 18 องศา จะเห็นการกระจายของจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า

โดยโมเดลนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ 2 นักวิจัยจากประเทศสเปนและฟินแลนด์ ซึ่งพบว่า 95% ของเคสที่ผลตรวจเป็นบวกทั่วโลก เกิดขึ้นในประเทศที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง -2 องศาถึง 10 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของทาง MIT ในข้างต้น เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัย Beihang ในประเทศจีน ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดในจีน พบว่า ในช่วงแรกของการระบาดก่อนที่ทางรัฐบาลจะมาเข้าควบคุมนั้น เมืองที่อากาศร้อนและความชื้นสูง มีอัตราการแพร่ระบาดต่ำกว่าเมืองที่อากาศเย็นและแห้ง

ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลาย ๆ ประเทศต่างเชื่อว่า การระบาดของโคโรนาไวรัสจะลดลงเมื่ออากาศเริ่มร้อนขึ้น คล้าย ๆ กับสมัยที่โรคซาร์สระบาดในหน้าหนาว และสิ้นสุดในหน้าร้อน

 

แต่ทั้งนี้ การด่วนสรุปว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับโรคซาร์ส ก็ดูจะเร็วไปเสียหน่อย เพราะในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันชัดเจนว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็มีนักวิจัยหลายท่านที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็น Marc Lipsitch นักระบาดวิทยาจากสถาบัน T.H. Chan School of Public Health แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ที่เผยว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและความเร่งในการติดต่อ สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีอากาศแห้งและเย็น อย่างเช่นที่ประเทศจีน ไปจนถึงประเทศเขตร้อน อย่างเช่น สิงคโปร์ ฉะนั้น ไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะสร้างความแตกต่างในการแพร่กระจายของไวรัสเท่าใดนัก เพราะการแพร่ระบาดจะเบาบางลงไม่ได้ถ้าหากปราศจากมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาด นั่นหมายความว่า ต่อให้โรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศเขตร้อน แต่ถ้าหากมีการป้องกันที่ไม่ดี ก็ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้นั่นเอง

ด้าน Dr. Jeremy Rossman นักวิชาการสาขาไวรัสวิทยา จากมหาวิทยาลัย Kent ในสหรัฐฯ​ เผยว่า ถ้าหากนำไวรัสโควิด-19 ไปเปรียบเทียบกับไวรัสในตระกูลเดียวกันที่เคยแพร่ระบาดมาก่อน จะมองเห็นว่า สภาพอากาศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเท่าใดนัก ยกตัวอย่างเช่น โรคซาร์สที่ระบาดในช่วงหน้าหนาว ก่อนยุติการระบาดในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีถัดไป ซึ่งเป็นหน้าร้อน อันที่จริงแล้วเป็นผลมาจากมาตรการการควบคุมโรคในเวลานั้นมากกว่า

ส่วนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เอง ก็ออกมาเผยว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ในตอนนี้ว่า ไวรัสจะสลายไปในหน้าร้อนเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การแพร่ระบาดจะเบาบางลงเมื่อหน้าร้อนมาถึง

 

 

-------------------------------------
ที่มา : technologyreview.com , scmp.com
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 20/03/2020

covid-19





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy