หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

รู้จักกับ Facebook Safety Check คืออะไร? มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ?

เมื่อช่วงค่ำคืนวานนี้ หลาย ๆ ท่านคงจะสังเกตเห็น การแจ้งเตือนจาก Facebook พร้อมกับสอบถามผู้ใช้งานว่า ปลอดภัยจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ หรือไม่ ซึ่งข่าวนี้ สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ใช้ Facebook ชาวไทยเป็นอย่างมาก และค้นหาข้อมูลอย่างเร่งด่วนว่า เกิดเหตุระเบิดที่ใดในกรุงเทพฯ กันแน่ โดยมีหลาย ๆ ท่านร่วมกดรายงานความปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อวานนี้ไม่มีเหตุการณ์ระเบิดใด ๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบ Facebook Safety Check นี้ ทำไมถึงมีข้อผิดพลาด และข่าวคราวเรื่องระเบิด มาจากแหล่งใดกันแน่

Facebook Safety Check คืออะไร ? มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

สำหรับสาเหตุของระบบแจ้งเตือน Facebook Safety Check นั้น เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 ทำให้ทีมวิศวกรของ Facebook ในประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนา Disaster Message Board ขึ้นมาเพื่อติดต่อ และตามหาคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ทาง Facebook เล็งเห็นว่า ภัยพิบัตินั้นเกิดขึ้นบ่อยและเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ประกอบกับ Facebook คือชุมชนผู้ใช้งานรายใหญ่ ที่สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ โดยเฉพาะคนรู้จักได้ง่าย ทำให้ Facebook เกิดไอเดียในการพัฒนา Facebook Safety Check ขึ้นมานั่นเอง

 

Facebook Safety Check ทำงานอย่างไร ?

เมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น ระบบ Safety Check จะเริ่มทำงานด้วยการส่งการแจ้งเตือนไปยัง ผู้ใช้งาน Facebook ที่น่าจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ประสบภัย พร้อมกับสอบถามว่า ผู้ใช้งานปลอดภัยหรือไม่ ถ้าหากปลอดภัย ให้คลิกที่ปุ่ม I'm Safe แต่ถ้าหากไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ให้คลิกปุ่ม I'm not in the area นอกจากนี้ ยังสามารถส่งแจ้งเตือนให้กับเพื่อนที่คาดว่า น่าจะอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมกับสอบถามว่า ปลอดภัยหรือไม่ ได้ด้วยเช่นกัน

 

Facebook มีวิธีการคัดกรองข่าวสารสำหรับแจ้งเตือน Safety Check อย่างไร?

ในตอนแรกของระบบ Safety Check นั้น ทีมงานของ Facebook จะเป็นผู้เปิดระบบดังกล่าว พร้อมกับแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานที่น่าจะอยู่ในพื้นที่ประสบภัย (ผู้ใช้งานไม่สามารถเปิดระบบดังกล่าวเองได้) แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง Facebook ได้ปรับระบบใหม่ ด้วยการให้บุคคลที่ 3 (ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย คาดว่า น่าจะเป็นองค์กรภายนอกที่สามารถติดต่อกับ Facebook ได้โดยตรง) เป็นผู้แจ้งเตือนเหตุการณ์ร้ายแรงไปยัง Facebook และทีมงาน จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวสารต่าง ๆ ว่าตรงกับที่แจ้งมาหรือไม่ ก่อนทำการเปิดระบบ Safety Check แจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

นั่นหมายความว่า เหตุการณ์แจ้งเตือนเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อค่ำคืนวานนี้ อาจจะไม่ใช่ความผิดพลาด แต่อาจจะมีข่าวหรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุระเบิดในวันดังกล่าว อย่างไรก็ดี ข่าวสารจากภายนอก ในบางครั้งก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเสียทีเดียว ฉะนั้น ทางทีมงาน Facebook เอง ควรจะต้องปรับปรุงระบบการคัดกรองข่าวสารต่าง ๆ ว่า ข้อมูลถูกต้องมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง อนาคต Facebook Safety Check อาจไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

 

 

---------------------------------------
ที่มา : facebook.com , newsroom.fb.com

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 28/12/2016

facebook facebok Facebook safety check





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy