เชื่อว่าเกมเมอร์ชาวไทยคงรู้จักแพลตฟอร์มขายเกมยอดนิยมอย่าง Steam กันแน่นอน ซึ่งการซื้อเกมผ่าน Steam นั้น มีข้อดีคือสามารถดาวน์โหลดเกมนั้นๆ ลงเครื่องได้ทันทีหลังจากจ่ายเงิน โดยไม่ต้องรอการจัดส่งแผ่นเกมให้เสียเวลา แต่เกมนั้นๆ จะผูกกับบัญชีของเรา และไม่สามารถส่งต่อ หรือขายต่อได้ ต่างกับเกมแผ่นที่ขายต่อเป็นเกมมือสองได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บางส่วนมองว่าข้อจำกัดนี้เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และได้รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลยุโรป จนกลายเป็นเรื่องดราม่าในวงการเกม PC ที่คุกรุ่นอยู่ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดเรื่องนี้ก็มีความคืบหน้าแล้ว โดยศาลสูงฝรั่งเศสได้ตัดสินว่าผู้ใช้ Steam จะต้องสามารถขายต่อเกมในบัญชีได้ พร้อมกับมีคำสั่งให้ Valve Corporation แก้ไขข้อตกลงการให้บริการ Steam ให้สอดคล้องกับคำตัดสินภายใน 3 เดือนครับ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลสูงปารีส (Tribunal de grande instance de Paris) ได้มีคำตัดสินชี้ขาดว่า ผู้บริโภคในยุโรปจะต้องสามารถขายต่อเกมแบบ digital download บนแพลตฟอร์ม Steam ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการขายต่อเกมที่มีแผ่น และมีแพ็คเกจทั่วไป โดยที่ผู้ให้บริการอย่าง Valve Corporation ไม่สามารถปิดกั้นสิทธิดังกล่าวได้
ทั้งนี้ Valve Corporation ได้แก้ต่างว่า Steam นั้นเป็น "บริการแบบเรียกเก็บเงิน (subscription service)" ซึ่งผู้ใช้ไม่ได้เป็นเจ้าของเกมที่ซื้ออย่างสมบูรณ์ แต่เป็นการจ่ายเงินค่าบริการเพื่อปลดล็อคเกมใน library เท่านั้น ผู้ใช้ Steam จึงไม่มีสิทธิพื้นฐานบางข้อในฐานะผู้บริโภค เช่นสิทธิในการขายต่อเกม เป็นต้น แต่ศาลปฏิเสธข้อแก้ต่างดังกล่าว
แน่นอนว่าทาง Valve Corporation ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้ และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป
“เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นปารีส และจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป คำตัดสินดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ กับ Steam ในขณะที่คดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์” โฆษกของ Valve ชี้แจงกับเว็บไซต์ Polygon ทางอีเมล์
-------------------------------------
ที่มา : Polygon
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 25/09/2019
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |