ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ความเร็วในการรับส่งข้อมูลก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากยุค 28Kb ที่โหลดภาพยังแทบไม่ขึ้น มาเป็นยุคที่บ้านเรือนทั่วไปมีอินเทอร์เน็ต 10 Gb ดูหนังฟังเพลงได้อย่างราบรื่น และล่าสุดเราก็กำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตอีกครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อทีมนักวิจัยจากประเทศเยอรมันนีสามารถทำความเร็วอินเทอร์เน็ต 1 Tb/s (เทระบิตต่อวินาที) บนเครือข่ายจริงได้สำเร็จแล้ว
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมมือของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค (Technical University of Munich), Nokia Bell Labs และ Deutsche Telekom T-Labs โดยทีมวิจัยเปิดเผยว่า ความเร็วระดับเทระบิตต่อวินาทีนี้ จริงๆ แล้วเป็นเพียงความเร็วสูงสุดในการส่งข้อมูลบนใยแก้วนำแสงในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในเชิงปฏิบัติ แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถทำได้โดยปรับแต่งอัตราการรับส่งข้อมูลแบบไดนามิกที่ปรับตัวตามสภาพของช่องทางในขณะนั้น แทนที่จะใช้วิธีส่งข้อมูลไปตรงๆ ให้เร็วที่สุดอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน
โฉมหน้าทีมวิจัยจาก TUM
ในทางทฤษฎี อินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 Tb/s สามารถรับส่งข้อมูลได้ 125 GB ต่อวินาที นั่นหมายความว่า เราสามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังขนาด 5 GB ได้ 25 เรื่องในวินาทีเดียวเท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิจัยกลุ่มอื่นเคยทำความเร็วถึงจุดนี้มาแล้ว แต่ในครั้งนี้แตกต่างออกไปตรงที่ความเร็วที่ได้นี้ มาจากการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายที่ใช้กันจริงๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะนำมาใช้งานจริงได้มากกว่า ความเร็วที่สูงกว่านี้ก็เคยทำได้แล้วในประเทศอังกฤษ โดยทำได้ถึง 1.4 Tb/s แต่ก็มาจากการเชื่อมต่อหลายช่องทางและเกิดขึ้นในห้องแล็บที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม
เราอาจจะยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วระดับเทระบิตตามบ้านในเร็วๆ นี้ แต่ความสำเร็จในการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่จะนำวิธีดังกล่าวไปเพิ่มแบนวิธให้กับเครือข่ายที่ตนให้บริการ เพื่อดึงประสิทธิภาพและความเร็วในการรับส่งข้อมูลของเครือข่ายออกมาอย่างเต็มที่ได้ในอนาคต
---------------------------------------
ที่มา : Gizmodo , TUM
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 20/09/2016
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |