เมื่อไม่นานนี้ Google ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ Google Pixel และ Pixel XL นั่นก็คือ Google Wifi ซึ่งเป็นเราเตอร์ wireless ที่สามารถเชื่อมต่อกันและกันและกระจายสัญญาณครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในบ้านได้ ซึ่งก็ได้รับความสนใจไม่น้อยเพราะปัญหาสัญญาณ Wifi ในบ้านแรงไม่ทั่วถึงถือเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านที่ใครๆ ก็ต้องเจอ หลายคนเริ่มจะอยากรู้ว่า Google Wifi ทำงานอย่างไรและดีอย่างที่โฆษณาเอาไว้หรือไม่ ล่าสุดทางเว็บไซต์ The Verge จึงได้นำ Google Wifi ไปทดสอบใช้งานจริงให้เห็นประสิทธิภาพกันชัดๆ โดยเทียบกับอุปกรณ์แบรนด์อื่นอีก 2 ตัวคือ Eero และ Orbi ซึ่ง Google Wifi ก็แสดงประสิทธิภาพได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว แต่เพื่อให้เข้าใจลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนี้มากขึ้น ก่อนที่จะไปชมจุดเด่นของ Google Wifi เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Mesh Network กันก่อนครับ
รู้จักกับ Mesh Network
ปกติแล้วการกระจายสัญญาณ wifi จะมาจาก access point ที่ต้องเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณด้วยสายอีกที การจะกระจายสัญญาณให้กว้างขึ้นก็ต้องเพิ่มจุด access point และเชื่อมต่อกันด้วยสายซึ่งยุ่งยากและเปลืองค่าใช้จ่าย แต่การเชื่อมต่อแบบ Mesh Network ตัว access point จะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายแบบไร้สายและกระจายสัญญาณด้วยตัวเอง โดยจุดกระจายสัญญาณแต่ละจุดจะเรียกว่า node และแต่ละ node ก็จะเชื่อมต่อกับ node ที่อยู่ใกล้ที่สุดกันเป็นทอดๆ ทำให้ขยายสัญญาณได้กว้างขวางกว่าวิธีการเดิมๆ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
เมื่อเข้าใจลักษณะของ Mesh Network แบบคร่าวๆ แล้วก็ถึงเวลาชมความสามารถของ Google Wifi แล้ว ซึ่งความพิเศษของมันจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อมๆ กันเลยครับ
1. ไม่มองข้ามเรื่องดีไซน์
ปกติเวลาเราเลือกซื้อเราเตอร์ wireless เราก็ไม่ได้ดูกันที่ดีไซน์อยู่แล้ว ขอแค่แรงดีไม่มีตกก็พอจะมีเสาอากาศยื่นออกมาเป็นขาแมงมุมก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องการแต่งบ้าน เราเตอร์ wireless หน้าตาประหลาดก็คงจะเป็นอะไรที่ขัดหูขัดตาอยู่ไม่น้อย
Google Wifi เป็นเราเตอร์ขนาดเล็กที่ดูเรียบง่ายสะอาดตา ไม่มีเสาอากาศ ลักษณะภายนอกเหมือนกระปุกกลมๆ 2 กระปุกวางซ้อนกัน และมีวงแหวนที่ส่องแสงได้อยู่ตรงกลาง แสงจากวงแหวนนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังบ่งบอกสถานะของตัวเราเตอร์อีกด้วย โดยสีฟ้าหมายถึงกำลังติดตั้ง และสีขาวหมายถึงเชื่อมต่อ แต่หากเราไม่ชอบให้มันส่องแสงก็สามารถปิดได้ผ่านแอปพลิเคชันเช่นกัน ด้วยดีไซน์ที่ดูเรียบง่ายและเล็กกะทัดรัดคล้ายของแต่งบ้านนี้ ทำให้สามารถเอาไปวางไว้ตรงไหนก็ได้โดยไม่เตะตามากนัก
2. ไม่มีสายรุงรัง เชื่อมต่อกันด้วย Wifi ล้วนๆ
Google Wifi ไม่ได้มีสายระโยงระยางมากมายเพราะใต้ฐานของตัวเครื่องมีพอร์ตแค่ 3 พอร์ตเท่านั้นคือ power port และพอร์ต ethernet 2 Gb อีก 2 ช่องสำหรับอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และสำหรับต่อพ่วงอุปกรณ์ต่างๆ รองรับสัญญาณ 2.4 GHz และ 5GHz 802.11a/b/g/n/ac พร้อมระบบนิรภัย WPA2-PSK ซึ่งไม่ได้โดดเด่นอะไรมากเมื่อเทียบกับเราเตอร์ทั่วไปในท้องตลาด แต่เนื่องจาก Google Wifi ถูกออกแบบมาสำหรับ mesh network ที่ต้องเชื่อมต่อกันหลาย node และช่วยกันทำงานอยู่แล้ว ฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูงจึงไม่จำเป็นเท่าไหร่
3. ติดตั้งและจัดการทุกอย่างได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน
การติดตั้ง Google Wifi เรียกได้ว่าง่ายสุดๆ จนใครๆ ก็ทำได้ โดยติดตั้งผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน (ใช้ได้ทั้ง iOS และ Android) ซึ่งจะมีการพาเราเข้าสู่การติดตั้งทีละขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายใหม่ ตั้งชื่อ ใส่รหัสผ่าน ไปจนถึงการติดตั้ง Google Wifi ในจุดต่างๆ ของบ้าน นอกจากนี้เรายังสามารถเช็คความเร็วของอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการ (ISP) มายังโมเด็ม และจาก Google Wifi ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงความแรงของสัญญาณระหว่าง node แต่ละจุดได้ผ่านแอปพลิเคชัน และยังมีฟีเจอร์ Network Assist ที่จะแนะนำตำแหน่งการวางตัว Google Wifi ให้ได้สัญญาณแรงที่สุด และบอกเราได้เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตจาก ISP เกิดขัดข้อง ทำให้เราไม่ต้องเดาให้เสียเวลาว่าปัญหาเกิดจากตัวอุปกรณ์หรือมาจาก ISP กันแน่
นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังสามารถแสดงอุปกรณ์ทั้งหมดที่เชื่อมต่ออยู่กับเครือข่าย (รู้ได้ทันทีว่าหากมีใครแอบเนียนเข้ามาใช้เน็ตบ้านเรา) และให้เราควบคุมจัดการการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะสั่งระงับ wifi หรือเลือกให้ส่งสัญญาณไปให้อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเป็นพิเศษ และยังสามารถสั่งการจากระยะไกลทำให้เราสามารถควบคุมระบบ wifi ในบ้านได้ทั้งหมดแม้ไม่ได้อยู่บ้านก็ตาม
4. สัญญาณครอบคลุมทั่วบ้านแม้ในจุดอับ
ผลการทดสอบความเร็วในพื้นที่ต่างๆ ของบ้านด้วย Google Pixel
ผลการทดสอบความเร็วในพื้นที่ต่างๆ ของบ้านด้วย HP Spectre X360
จากการทดสอบใช้งานจริงในสภาพบ้านที่มีกำแพงหลายชั้นเป็นอุปสรรคและมีอุปกรณ์จำนวนมากเชื่อมต่อ wifi อยู่ตลอดเวลา โดยตั้ง Google Wifi ไว้ 3 จุด คือห้องทำงานชั้นสองซึ่งเป็นตัวกระจายสัญญาณหลัก อีกจุดหนึ่งคือห้องนั่งเล่นชั้นล่าง และจุดสุดท้ายในห้องนอนที่มีกำแพงหนากั้น โดยความเร็วของอินเทอร์เน็ตจาก ISP คือ 200/35 Mbps ทดสอบโดยวัดความเร็วจากตำแหน่งต่างๆ ของบ้านด้วย Google Pixel และแลปท็อป HP Spectre X360 ผลปรากฏว่าแม้ในจุดอับสัญญาณที่สุดอย่างห้องนอนก็ยังทำความเร็วได้ที่ 90 Mbps รักษาความเร็วไว้ได้เกือบ 50% ยังคงเร็วพอที่จะสตรีมมิ่งวิดีโอ 4K ได้สบาย และถือว่าทำได้ดีกว่าเราเตอร์ทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเราเตอร์ยี่ห้ออื่นอย่าง Orbi แต่ก็มีราคาถูกกว่าและมีขนาดเล็กกว่ามาก และยังสามารถควบคุมผ่านแอปพลิเคชันได้ง่ายอีกด้วย
5. สมดุลทั้งราคา ประสิทธิภาพ และความเรียบง่าย
Google Wifi อาจไม่ได้เป็นเราเตอร์ wireless สำหรับ mesh network ที่เร็วที่สุด แต่มีราคาย่อมเยากว่ายี่ห้ออื่น ติดตั้งได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางเทคนิคใดๆ มาก่อน และตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปได้ดี สามารถกระจายสัญญาณครอบคลุมทั่วทั้งบ้านได้อย่างไม่ยากเย็น นอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการเครือข่ายจากระยะไกลได้ผ่านแอปพลิเคชัน หากบ้านไหนอยากจะเริ่มต้นใช้งานเครือข่าย Wifi แบบ Mesh Network เพื่อแก้ปัญหาจุดอับสัญญาณในบ้าน Google Wifi ถือเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้เริ่มต้นที่ดีทั้งราคาและประสิทธิภาพครับ
Google Wifi เพิ่งจะวางจำหน่ายในปรเทศสหรัฐอเมริกาไปเมื่อวานนี้ในราคา $129 (ราว 4,600 บาท) ต่อชิ้น และแบบแพ็ค 3 ชิ้นในราคา $299 (ราว 10,700 บาท) ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่หากในอนาคต Google Wifi เป็นที่ต้องการกันมากทาง Google ก็อาจจะขยายช่องทางการวางจำหน่ายไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมไปถึงประเทศไทยก็เป็นได้ครับ
---------------------------------------
ที่มา : The Verge
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 07/12/2016
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |