สำหรับชีวิตประจำวันของคนยุค IT อย่างเราต้องเจอกับสัญลักษณ์ทางคอมพิวเตอร์หลายอย่างจนคุ้นตากันไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เดาไม่ยากว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอะไร ถ้าเป็นสัญลักษณ์กลมๆ มีขีดแทงออกมานี่คือปุ่ม Power ถ้าเป็นเส้นที่มีปลายแยกออกเป็นสามง่ามคือ USB หรือถ้าเป็นสัญลักษณ์เหมือนตัว B คือ Bluetooth แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าสัญลักษณ์เหล่านี้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงดีไซน์ออกมาเป็นแบบนี้ และมันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ แน่นอนครับว่ามันไม่ได้ถูกดีไซน์ขึ้นมามั่วๆ และในวันนี้เราก็ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของสัญลักษณ์ IT ที่ทุกคนคุ้นเคย 8 แบบมาตีแผ่ให้ทราบกันครับ รับรองว่าบางอย่างต้องคาดไม่ถึงกันอย่างแน่นอน
เปิด-ปิด (Power)
ญลักษณ์ยอดฮิตที่นอกจากจะอยู่บนปุ่มเปิดเครื่องของอุปกรณ์ IT ทุกอย่างแล้ว ยังถูกวัฒนธรรมป๊อปรับไปเป็นแฟชันอีกด้วย ที่มาที่ไปของสัญลักษณ์นี้ย้อนไปไกลถึงยุคแรกเริ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งในยุคนั้นการเปิด-ปิดอุปกรณ์ใช้ระบบสวิทช์หรือคันโยก พร้อมคำว่า “on” และ “off” กำกับเอาไว้ หากสับสวิตช์ไปที่ on เครื่องก็จะทำงาน หากสับไปที่ off เครื่องก็จะหยุดทำงาน จนกระทั่งเวลาผ่านไป เครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก จึงต้องหาอย่างอื่นมาแทนคำว่า on และ off เพื่อให้คนทุกชาติ ทุกภาษา และหลังจากนั้น คำว่า on และ off ก็ถูกแทนที่ด้วยเลข 1 และ 0
เลข 1 และ 0 นี้มาจากระบบเลขฐาน 2 (Binary) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำงานของคอมพิวเตอร์ (1 คือสถานะมีไฟฟ้า 0 คือสถานะไม่มีไฟฟ้า) หน้าตาของสวิตช์จึงเปลี่ยนไปเป็น I/O
เวลาผ่านไป เริ่มมีการนำปุ่มเปิด-ปิดเครื่องแบบปุ่มเดียวมาใช้ ทำให้การใส่สัญลักษณ์ I/O เริ่มสับสน ปี 1973 คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission - IEC) จึงได้ดัดแปลงสัญลักษณ์ I และ O ให้มาอยู่ด้วยกัน โดยให้เลข 1 อยู่ในเลข 0 และโผล่พ้นขึ้นมาด้านบน และประกาศให้เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ “สแตนด์บาย” ซึ่งหมายถึงสถานะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าหยุดการทำงาน แต่ยังไม่ได้ตัดขาดจาก power supply โดยสมบูรณ์ ส่วนสัญลักษณ์ เปิด-ปิด นั้น ถูกกำหนดให้เป็น I อยู่ในเลข O แทน
หน้าตาของสัญลักษณ์ Power ยุคแรก
แทนที่สัญลักษณ์สแตนด์บายจะช่วยแก้ปัญหา มันกลับทำให้ผู้ใช้งงหนักกว่าเดิมเพราะความกำกวมของมันนั่นเอง ในเวลาต่อมา สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers - IEEE) จึงได้นำสัญลักษณ์ “สแตนด์บาย” มาใช้แทนสัญลักษณ์ “เปิด-ปิด” ส่วนสถานะสแตนด์บายก็เปลี่ยนไปใช้รูปพระจันทร์เสี้ยวแทน และเรียกใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า Sleep Mode ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สัญลักษณ์ Power ก็ได้รับการยอมรับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในหน้าตาแบบที่เราเห็นกันนั่นแหละครับ
สลีป (Sleep)
อย่างที่กล่าวไว้ใสเรื่องปุ่ม Power คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจความหมายของสถานะ สแตนด์บาย เพราะมันแปลกที่จะบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านี้ “ไม่เปิดและไม่ปิด” เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น IEEE จึงเปลี่ยนชื่อ Standby Mode เป็น Sleep Mode พร้อมกับใช้สัญลักษณ์รูปพระจันทร์ เป็นการเปรียบเทียบกับการนอนของคนเราที่เป็นการพักผ่อนชั่วคราว ไม่ได้ตื่น (เปิด) และก็ไม่ได้ตาย (ปิด) นั่นเอง
คอมมานด์ (Command)
สัญลักษณ์นี้อาจจะไม่คุ้นตาสำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับชาว Mac จะต้องร้องอ๋อกันแน่นอน เพราะมันคือสัญลักษณ์ของปุ่ม Command ที่มีหน้าที่เหมือนกับปุ่ม Ctrl ใน Windows
ความเป็นมาของปุ่มนี้เริ่มจาก Andy Hertzfeld หนึ่งในผู้พัฒนาคอมพิวเตอร์ Mac รุ่นแรกได้ระดมสมองกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อหาวิธีใส่ปุ่มคำสั่งต่างๆ ลงไปบนคีย์บอร์ด จนกระทั่งความคิดตกผลึกออกมาเป็น “ปุ่ม Apple” ปุ่มพิเศษที่หากกดค้างไว้และกดปุ่มอื่นด้วยก็จะเป็นการเรียกใช้คำสั่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม แต่ศาสดา Steve Jobs กลับไม่ชอบมันซะงั้น หรือจะพูดให้ถูกก็คือเขาไม่ชอบโลโก้ Apple บนปุ่มนั่น ถึงกับโวยวายว่า “แอปเปิ้ลเต็มหน้าจอไปหมดแล้ว(โว้ย)! น่าขำสิ้นดี! แบบนี้มันเอาโลโก้ Apple มาใช้พร่ำเพรื่อเปล่าๆ ปลี้ๆ!” ทีมของ Andy Hertzfeld จึงต้องรีบดีไซน์เจ้าปุ่มนี้ใหม่อย่างเร่งด่วน หน้าที่นี้ตกไปอยู่ในมือของ Susan Kare นักออกแบบภาพบิตแมป เธอเปิดดิกชันนารีสัญลักษณ์สากลจนไปเจอกับสัญลักษณ์คล้ายดอกไม้ที่ใช้กันในประเทศสวีเดน ซึ่งมีความหมายว่าสถานที่นี้เป็นจุดที่เหมาะกับการปิกนิก ถึงมันจะไม่เกี่ยวอะไรกับคอมพิวเตอร์เลยแต่สุดท้ายมันก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของปุ่ม Command จวบจนทุกวันนี้
บลูทูธ (Bluetooth)
ว่ากันว่าสัญลักษณ์ Bluetooth นี้มีที่มาจากกษัตริย์เดนมาร์กพระนามว่า Harald Blåtand ซึ่งทรงโปรดปรานบลูเบอร์รีมาก และเสวยจนกระทั่งฟันซี่หนึ่งของพระองค์เป็นสีน้ำเงิน ตำนานนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่สัญลักษณ์บลูทูธมาจากอักษรรูน (ภาษาโบราณของชาวยุโรปเหนือ) 2 ตัวซึ่งเป็นชื่อย่อของกษัตริย์ Harald Blåtand มารวมเข้าด้วยกัน ดังภาพข้างล่าง
นอกจากนี้การเลือกใช้พระนามของกษัตริย์พระองค์นี้มาตั้งชื่อเทคโนโลยียังมีความหมายสำคัญซ่อนอยู่ด้วย นั่นคือการเป็นสื่อกลางที่ทำให้อุปกรณ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือรถยนต์ ให้ทำงานร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียว เหมือนดั่งที่กษัตริย์ Harald Blåtand ทรงมีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งสงครามและรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง
USB
หลายคนคงเคยคิดว่าสัญลักษณ์ USB มันดูคุ้นๆ เหมือนได้รับแรงบันดาลใจมาจากตรีศูลหรือหอกอะไรหรือเปล่า ซึ่งก็เดาไม่ผิดครับเพราะสัญลักษณ์ USB นั้นมาจากหอกของเทพเจ้าเนปจูน (กรีกเรียกโพเซดอน) ซึ่งมีสามง่ามเหมือนกัน แต่หากสังเกตดีๆ ที่ปลายของสัญลักษณ์ USB นั้นจะคมอยู่ปลายเดียว อีกสองปลายเป็นสี่เหลี่ยม และวงกลม ซึ่งเป็นการสะท้อนความตั้งใจของผู้พัฒนาที่ต้องการให้ USB เป็นมาตรฐานที่อุปกรณ์ต่อพ่วงทุกประเภทสามารถใช้ร่วมกันได้ไม่แบ่งแยก
เล่น (Play)
จริงๆ แล้วสัญลักษณ์นี้ไม่ได้อยู่บนคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่แรก แต่มันก็หาทางมาปรากฏตัวจนได้ทั้งบนคีย์บอร์ด บนหน้า UI โปรแกรมเล่นเพลง และในอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่เล่นเพลงหรือเล่นวิดีโอได้ เดิมทีมันปรากฏอยู่บนเครื่องเล่นเทปรีลในยุปี 1960 ทิศทางของลูกศรหมายถึงทิศทางที่ฟิล์มรีลหมุนไปนั่นเอง หากมีลูกศรมาต่อกันสองอันและชี้ไปทางขวา ก็คือการเล่นไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว (Foward) หรือหากหันไปด้านซ้ายก็จะหมายถึงการกรอกลับ (Rewind) วันเวลาผ่านไป เครื่องเล่นเทปพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนก้าวเข้าสู่ยุคเทปคาสเซ็ต ยุค CD และยุค mp3/mp4 ตามลำดับ ความเปลี่ยนแปลงทำให้หลายสิ่งหลายอย่างต้องตกยุคและถูกลืมเลือนไป แต่เจ้าลูกศร Play นี้ก็ยังคงอยู่คู่กับวงการเพลงและวงการหนังมาโดยตลอด และจะคงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน
หยุด (Pause)
มีปุ่ม Play ก็ต้องมีปุ่ม Pause เหมือนคู่หูที่ไปไหนไปกันตลอด แต่ต้นกำเนิดของปุ่ม Pause นั้นคลุมเครือกว่าปุ่ม Play มาก บ้างก็บอกว่ามันมาจากสัญลักษณ์ที่ใช้กันเวลาวาดวงจรไฟฟ้า บ้างก็บอกว่ามันคือสัญลักษณ์ Stop ที่โดนปาดตรงกลางออกเท่านั้น แต่ที่ดูน่าเชื่อถือและน่าสนใจที่สุดก็คือข้อสันนิษฐานที่ว่ามันมาจาก “Caesura” สัญลักษณ์ทางดนตรีที่มีความหมายว่า “หยุดเล่นชั่วครู่” ซึ่งจะนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับวาทยากรผู้ควบคุมวงเป็นหลัก สำหรับนักร้อง อาจหมายถึงถึง “จังหวะหยุดหายใจสั้นๆ” ซึ่งความหมายก็ตรงกับ Pause ด้วย
@ (At)
เรามักจะเห็นสัญลักษณ์นี้ใน email address และไม่ค่อยได้เห็นการใช้งานในที่อื่นๆ อีก จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมกับ email แต่จริงๆ แล้วต้นกำเนิดของมันนั้นย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 6 เลยทีเดียว
ในสมัยนั้นนักบวชในศาสนาคริสต์ยังนิยมเขียนบันทึกทางศาสนาต่างๆ ด้วยภาษาละติน (ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว) ซึ่งในภาษาละตินมีคำว่า “ad” ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า “at” ในภาษาอังกฤษ ปัญหาก็คือมันเขียนเหมือนกับคำว่า AD ซึ่งย่อมาจาก Anno Domini หรือ “คริสตศักราช” เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจึงมีการนำสัญลักษณ์ @ มาใช้แทนคำว่า ad ในภาษาละติน ต่อมาในปี 1885 เริ่มมีการใช้สัญลักษณ์นี้ในการบัญชีในความหมาย “at the rate of” หรือ “ในอัตราที่” หลังจากนั้นในปี 1971 โปรแกรมเมอร์นามว่า Raymond Tomlinson ได้นำ @ มาใช้คั่นระหว่างชื่อ address ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อใช้แยกระหว่างผู้ใช้กับเครื่องปลายทาง และมันก็ถูกใช้ในลักษณะนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
---------------------------------------
ที่มา : Gizmodo
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 13/04/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |