หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

อดนอนไม่ใช่เรื่องตลก: เมื่อการนอนไม่พอ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเราอย่างคาดไม่ถึง

ชีวิตคนเมืองกับการอดนอนเป็นของคู่กัน หลายคนต้องทำ OT จนดึก บางคนก็ทุ่มเทให้กับโปรเจ็คท์ข้ามวันข้ามคืน บางคนก็ต้องนอนดึก-ตื่นเช้าด้วยความจำเป็นทางหน้าที่การงาน ถึงแม้บางคนอาจจะมีเวลานอน แต่ก็นอนไม่หลับเพราะมีเรื่องหนักอกให้ครุ่นคิดมากมาย และปัญหาอีกร้อยแปดที่ทำให้เราไม่สามารถนอนอย่างเต็มอิ่มยามค่ำคืนได้ หลายคนอาจคิดว่าอดนอนนิดๆ หน่อยๆ ไม่เห็นเป็นไร ดื่มกาแฟสักแก้วก็ลุกไปทำงานตอนเช้าได้สบาย แต่แท้จริงแล้ว การอดนอนเป็นการทำลายสุขภาพในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

ก่อนที่จะไปดูว่าการอดนอนทำอะไรกับร่างกายเราบ้าง เรามาทำความเข้าใจธรรมชาติการนอนของมนุษย์กันก่อนดีกว่าครับ

 

ทำไมเราถึงต้องนอน?

มนุษย์เราจะรู้สึกว่า “ต้องนอน” เมื่อได้รับสัญญาณ 2 อย่าง อย่างแรกคือร่างกายที่ส่งข้อมูลไปยังสมองว่าเรากำลังเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และอย่างที่สองคือสัญญาณจากสภาพแวดล้อมที่มืดลง ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า Adenosine และ Metatonin ออกมา สารทั้ง 2 ชนิดนี้เองที่เป็นตัวการทำให้เราง่วง และหลับ

ระหว่างหลับ สถานะของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป เราจะหายใจเบาลง หัวใจเต้นช้าลง และกล้ามเนื้อทุกส่วนอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ในช่วงนี้เองที่ DNA ถูกซ่อมแซม และทำให้ร่างกายมีพลังงานพร้อมเผชิญหน้ากับเช้าวันใหม่อีกครั้ง

 

แล้วถ้าเราไม่นอน จะเกิดอะไรขึ้น?


Randy Gardner ระหว่างทำการทดลอง

ในปี 1965 หรือประมาณ 50 ปีที่แล้ว Randy Gardner หนุ่มไฮสคูลวัย 17 ปี นึกสงสัยขึ้นมาว่า หากเขาไม่หลับเลยจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขาบ้าง จึงเริ่มการทดลองด้วยการพยายามตื่นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากไม่ได้งีบหลับเลยเป็นเวลา 2 วัน ตาของเขาเริ่มพร่า ตามมาด้วยการสูญเสียประสาทสัมผัสในการรับรู้วัตถุ พอย่างเข้าวันที่ 3 เขาเริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียว แต่ก็ยังอดทนทดลองต่อไป อาการของเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในช่วงท้ายๆ ของการทดลอง เขาสูญเสียความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งต่างๆ สูญเสียความจำระยะสั้น มองเห็นภาพหลอน และมีอาการวิตกจริต หลังจากถ่างตาอย่างต่อเนื่องมาถึง 264 ชั่วโมง (11 วัน) เขาก็ตัดสินใจหยุดการทดลอง และทิ้งสถิติโลกของการอดนอนต่อเนื่องเอาไว้จวบจนทุกวันนี้ และโชคดีที่หลังจากนั้นเขาฟื้นตัวได้โดยไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวใดๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบ Gardner ในปี 2014 มีแฟนบอลชาวจีนอดหลับอดนอน 48 ชั่วโมงเพื่อชมแมตช์ฟุตบอลโลกจนเสียชีวิตจากอาการหลอดเลือดสมองแตกมาแล้ว หรือเรื่องราวของเกมเมอร์ที่เล่นเกมหามรุ่งหามค่ำจนตายคาเก้าอี้ก็มีข่าวให้เห็นอยู่เนืองๆ ถึงตรงนี้คงจะพอเข้าใจกันแล้วว่า ถ้าเราไม่นอนเลยจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


ฟุบคาโต๊ะ โมเมนต์ที่หลายคนเคยเจอ และบางคนก็ยังเจออยู่

ไม่ใช่แค่การอดนอน แต่การนอนไม่พอก็ทำลายสุขภาพไม่แพ้กัน ลองสังเกตอาการของตัวเองช่วงที่มีเวลานอนน้อยดู จะรู้สึกได้ว่าเราเรียนรู้อะไรได้ช้าลง จำอะไรไม่ค่อยได้ หงุดหงิดง่าย และตอบสนองช้า สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว หากนอนน้อยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ โรคภัยจะเริ่มถามหา โดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดในสมองแตกมากกว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมงต่อวันถึง 4.5 เท่า เป็นตัวเลขที่น่ากลัวไม่ใช่เล่น

 

อยากนอน แต่ทำไมถึงนอนไม่หลับ?

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) สาเหตุที่ทำให้เราหลับไม่ลงทั้งๆ ที่เหนื่อยสายตัวแทบขาดนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นเพราะการสะสมของ “ของเสีย” ในสมองที่มากเกินไป

ในขณะที่เราตื่น เซลล์ในร่างกายจะทำงานตามหน้าที่ของมันและผลิตพลังงานขับเคลื่อนร่างกาย ซึ่งในกระบวนการนี้ก็จะมีผลพลอยได้เป็นสารต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Adenosine เมื่อมี Adenosine สะสมกันมากขึ้นร่างกายก็จะรู้สึกง่วง และเมื่อเราหลับ ร่างกายก็จะเปิดระบบทำความสะอาดตัวเองที่เรียกว่า Glymphatic System เพื่อเก็บกวาดสารตกค้างทั้งหลายออกไปจากสมอง รวมไปถึง Adenosine พูดง่ายๆ ก็คือการนอนก็เหมือนกับการทำความสะอาดของเสียในสมองนั่นเอง


นอนไม่หลับ > ง่วง > โด๊ปกาแฟ > นอนไม่หลับ วัฏจักรที่ทำให้ร่างกายเราแย่ลงเรื่อยๆ

แต่เพราะเรามีงานที่ต้องทำและไม่สามารถนอนทุกครั้งที่ง่วงได้ ทำให้เราต้องหันไปพึ่งกาแฟเพื่อต่อต้านความง่วง ในกาแฟมีคาเฟอีนซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับ Adenosine ทำให้คาเฟอีนสามารถเข้าไปจับกับตัวรับแทน Adenosine ได้ เราจึงไม่รู้สึกง่วง แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราไม่นอน Adenosine และของเสียในสมองก็จะไม่ถูกกำจัดออกไป เกิดการสะสมจนสมองเกิดอาการ “โอเวอร์โหลด” และนำไปสู่โรคนอนไม่หลับในที่สุด

โรคนอนไม่หลับไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเสมอไป ในโลกนี้ยังมีบางคนที่ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังที่เรียกว่า Fatal Familial Insomnia ซึ่งเกิดจากยีนกลายพันธุ์ที่สืบทอดกันมาทางสายเลือด ทำให้ร่างกายตื่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีอาการต่อเนื่องเป็นเดือน หรือเป็นปี อาจทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม หรือเสียชีวิตได้

 

เราควรจะนอนนานแค่ไหนจึงจะไม่ป่วย?


(คลิกที่ภาพเพื่อดูรูปใหญ่)

เพราะการอดนอนไม่ใช่เรื่องตลก จึงมีการศึกษาวิจัยช่วงระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมกับคนเราในแต่ละช่วงวัยออกมา เราอาจจะเคยได้ยินว่าต้องนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดมากกว่านั้น และด้านบนนี้คือตารางชั่วโมงการนอนที่แนะนำของคนแต่ละช่วงวัย จาก National Sleep Foundation โดยตัวเลขในช่องสีน้ำเงินคือจำนวนชั่วโมงในการนอนหลับที่แนะนำ ส่วนสีฟ้าคือยังอยู่ในช่วงที่พอรับได้ หากน้อยหรือมากไปกว่านี้ถือว่าไม่โอเคกับสุขภาพของเราแล้ว

 

การนอนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ใครที่นอนไม่พอ ลองจัดสรรเวลาการใช้ชีวิตในแต่ละวันดูใหม่ ถ้าได้หลับเต็มตื่น เราจะตื่นขึ้นมาเจอกับเช้าวันใหม่ที่สดใสกว่าเดิมแน่นอนครับ

 

---------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 30/05/2017

Health Sleep





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy