หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

มือถือเปียกน้ำไม่ต้องตกใจ! แก้ไขเบื้องต้นได้ง่ายๆ แค่ 8 ขั้นตอน

ในที่สุดเทศกาลสงกรานต์ก็เวียนมาให้ชื่นใจกันอีกครั้ง หลายคนก็ได้กลับบ้านไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และเล่นน้ำปะแป้งกันให้หายร้อน แต่ในช่วงสงกรานต์ปัญหาที่เจอกันบ่อยๆ ก็คือมือถือเปียกน้ำ น้ำเข้า แม้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นจะมีคุณสมบัติกันน้ำ-กันฝุ่นตามมาตรฐาน IP68 ก็ตาม แต่มือถือส่วนใหญ่ก็ยังไม่สู้น้ำอยู่ดี ในวันนี้เราจึงได้นำวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นเมื่อมือถือสุดที่รักเปียกน้ำมาฝากกันครับ

1. ปัญหามือถือน้ำเข้ายังพอมีทางแก้ หากเกิดเหตุขึ้นให้รีบนำมือถือออกมาจากแหล่งน้ำโดยเร็ว ที่สำคัญคือห้ามกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องเด็ดขาด เพราะแผงวงจรภายในที่ยังเปียกน้ำอยู่จะช็อตทันทีที่มีการจ่ายกระแสไฟเข้าไป และอาจทำให้มือถือคู่ใจของเราไปแล้วไปลับไม่กลับมา

2. แกะส่วนประกอบต่างๆ ของมือถือเท่าที่จะถอดได้ ไม่ว่าจะเป็นถาดใส่ซิมการ์ด, microSD, เคส, ฝาหลัง, แบตเตอรี่ และอื่นๆ เท่าที่จะถอดได้ (อันไหนถอดด้วยมือไม่ได้ไม่ต้องถอดออกมานะครับ) อย่างไรก็ตามมือถือสมัยนี้มักจะมีดีไซน์แบบ Unibody ที่ถอดอะไรไม่ได้เลยนอกจากถาดใส่ซิม ก็ไม่เป็นไรครับ ถอดได้แค่ไหนก็แค่นั้น

3. เมื่อเราถอดส่วนประกอบของมือถือออกมาแล้ว ทีนี้มือถือของเราก็จะแห้งเร็วขึ้นและง่ายขึ้น วิธีทำให้แห้งอาจเริ่มจากการจับมาสะบัดน้ำออก (ระวังหลุดมือ) จากนั้นก็เช็ดด้วยผ้าหรือทิชชู แต่ควรเลือกผ้าแบบไม่มีขนและทิชชูที่ไม่มีขุย เพราะเศษขนหรือขุยเล็กๆ อาจจะเข้าไปในตัวเครื่องได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาทีหลังครับ

4. ทำให้มือถือแห้งให้เร็วที่สุด อาจใช้พัดลมเป่าตามช่องหรือซอกจนมั่นใจว่าแห้งเท่าที่จะแห้งได้ ข้อควรระวังคือ อย่าใช้ไดร์เป่าผม เพราะความร้อนจากไดร์เป่าผมอาจทำให้วงจรภายในเสียหาย และทำให้กาวที่เชื่อมระหว่างฝาหลังกับตัวเครื่องเสื่อมสภาพได้ การนำไปตากแดดก็เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน เพราะแดดอันร้อนระอุของหน้าร้อนเมืองไทยอาจจะสร้างความเสียหายหนักกว่าไดร์เป่าผมเสียอีกครับ


ดูดความชื้นด้วยข้าวสาร วิธีบ้านๆ ที่ได้ผล

5. เมื่อมั่นใจว่ามือถือของเราแห้งที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือไล่ความชื้นออกจากเครื่องให้หมดจด เพราะลำพังแค่พัดลมคงไม่สามารถเป่าทุกซอกทุกมุมของวงจรภายในตัวเครื่องให้แห้งสนิทได้ ในขั้นนี้เราต้องพึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านนั่นคือการนำมือถือไปแช่ไว้ในข้าวสาร เพราะข้าวสารมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ หรืออาจใช้พวกซิลิก้าเจลแทนก็ได้เหมือนกัน จากนั้นก็ทิ้งไว้เฉยๆ สัก 2-3 วัน ระหว่างนี้คงต้องหามือถือสำรองใช้ไปก่อนนะครับ

*แนะนำว่าควรแบ่งข้าวสารออกมาแช่มือถือ เพราะหากนำไปแช่ทั้งถัง สารพิษในมือถืออาจซึมออกมาเจือปนกับข้าวสารได้ และทำให้เราต้องทิ้งข้าวทั้งถังไปเลย

6. เมื่อทิ้งมือถือไว้ในข้าวสารจนแน่ใจว่าแห้งสนิทแล้วจริงๆ ก็ให้นำออกมาแล้วประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถอดเอาไว้ในตอนแรกเข้าไปให้ครบถ้วนตามเดิม และอย่าเพิ่งเสียบชาร์จแบตเตอรีนะครับ

7. เมื่อประกอบเครื่องจนครบทุกส่วนแล้ว ลองกดปุ่มเปิดเครื่อง หากเปิดติดให้เช็คการทำงานของมือถือว่ามีปัญาอะไรตรงไหนหรือไม่ เช่น จอติดหรือไม่, ลำโพงดังเหมือนเดิมไหม, ระบบสัมผัสตอบสนองดีหรือเปล่า, มือถือมองเห็นการ์ด microSD หรือไม่ และอื่นๆ

8. หากมือถือใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ เพราะโอกาสที่มือถือเปียกน้ำจะกลับมาทำงานได้ 100% นั้นค่อนข้างน้อย หากโชคร้ายมือถือไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม ควรส่งต่อให้ทางศูนย์ซ่อมหรือผู้เชี่ยวชาญจัดการให้จะดีกว่าครับ


ใส่ซองกันน้ำไว้ก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง

แม้ว่าจะมีวิธีแก้ไข แต่การป้องกันก็ย่อมดีกว่าเสมอ ดังนั้นสงกรานต์นี้อาจต้องหาซองพลาสติกซิปล็อคมาใส่โทรศัพท์ หรือจะใช้ซองยาซิปล็อคก็พอแทนกันได้เหมือนกัน สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านมีความสุขสนุกสนานตลอดช่องสงกรานต์ปี 2560 นี้ครับ

 

---------------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 12/04/2017

มือถือ ตกน้ำ เปียกน้ำ น้ำเข้า






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy