องค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาและสเต็มเซลล์มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราค้นพบโอกาสใหม่ๆ ในทางการแพทย์และชีววิทยามากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การทดลองที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเช่นนี้ก็มักจะก้าวล้ำเส้นบางๆ ของจริยธรรมอยู่บ่อยครั้ง และเกิดเป็นประเด็นที่ต้องกลับมาขบคิดกัน อย่างเช่นในกรณีล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองฝังเซลล์สมองของมนุษย์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคสเต็มเซลล์ลงไปในสมองของหนู ที่ก่อให้เกิดคำถามมากมายตามมา
STAT เว็บไซต์เชิงสุขภาพสัญชาติอเมริกัน รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ใช้เทคนิคสเต็มเซลล์สร้างกลุ่มเซลล์ที่มีการทำงานคล้ายกับสมองมนุษย์ และได้ทดลองนำไปปลูกถ่ายลงในสมองหนูที่ยังมีชีวิต ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่งทดลองเชื่อมต่อเส้นเลือดให้เข้ามาเลี้ยงเซลล์สมองที่สร้างขึ้นโดยตรง พวกเขาพบว่าแกนประสาทจำนวนหนึ่งเติบโตขึ้นถึง 1.5 มิลลิเมตร และเชื่อมต่อเข้ากับสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัมของหนู ซึ่งเป็นกลุ่มใยประสาทที่เชื่อมสมองซีกซ้ายและซีกขวาไว้ด้วยกัน เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ทดลองฉายไฟไปยังดวงตาของหนู หรือกระตุ้นการมองเห็นด้วยวิธีอื่นๆ พบว่าเส้นประสาทที่รวมเข้ากับกลุ่มเซลล์สมองมนุษย์ที่ปลูกถ่ายลงไปมีการยิงสัญญาณไฟฟ้าออกมา ซึ่งหมายความว่า เนื้อเยื่อของสมองมนุษย์สามารถเติบโต และรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสมองของหนูได้
การทดลองเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้กลุ่มเซลล์ที่สร้างขึ้นจากเทคนิคสเต็มเซลล์เติบโตขึ้น และทำงานได้เหมือนสมองจริง เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้สังเกตธรรมชาติของสมองมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และค้นหาสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติทางสมอง เช่นภาวะออทิสติก โรคลมชัก หรือโรคจิตเภทได้ แต่ในขณะเดียวกัน การทดลองนี้ก็ทำให้เกิดคำถามทางจริยธรรมหลายอย่าง และทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องกลับมาทบทวนว่า พวกเขาได้สร้างอะไรขึ้นมากันแน่
เนื้อเยื่อสมองที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคสเต็มเซลล์ มีสำนึกรู้ และมีความคิดเป็นของตัวเองหรือไม่?
เราทดลองกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหนู เพราะหนูไม่ใช่มนุษย์ แต่ถ้าเรานำเซลล์สมองมนุษย์ไปปลูกถ่ายลงในหนู หนูจะมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น และมีสำนึกรู้ในตัวตนเหมือนอย่างมนุษย์หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น การนำหนูมาทดลองก็เป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรมด้วยหรือไม่?
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ เซลล์สมองของมนุษย์จะไม่มีทางเติบโตจนมีโครงสร้างที่ซับซ้อนได้ในสมองของหนู และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดสติปัญญาหรือความสำนึกรู้ แต่ในอนาคต การทดลองอาจยกระดับขึ้น และสวนทางกับจริยธรรมมากยิ่งขึ้น ถึงตอนนั้นเราจะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ หรือจริยธรรมมากกว่ากัน?
แล้วชาว Techmoblog ล่ะคิดอย่างไร? มาแชร์กันในช่อง comment ด้านล่างได้เลยครับ
---------------------------------------
ที่มา : STAT (1), (2), (3)
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 17/01/2019
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |