ทางการอินเดีย ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ริเริ่มโครงการรถไฟหัวกระสุนลอดใต้ทะเลเชื่อมเมืองใหญ่ มุมไบ-อาเมดาบัด ทางทิศตะวันตกของประเทศ ระยะทางกว่า 520 กิโลเมตร นับเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกของอินเดีย ล่าสุดเริ่มขุดเจาะอุโมงค์ใต้ทะเลเพื่อสำรวจคุณลักษณะของดินสำหรับการก่อสร้างแล้ว
นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย (ซ้าย) จับมือกับนายชินโซ อาเบะ (ขวา) หน้าขบวนรถไฟหัวกระสุน ประเทศญี่ปุ่น
โครงการรถไฟใต้ทะเลนี้จะยึดระบบรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นสายโตเกียว-โอซาก้าเป็นต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2023 โดยมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น 97,600 ล้านรูปี หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายส่วนเกิน, ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง และค่าภาษีนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดแล้ว ซึ่ง 81% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด JICA ได้เสนอเงินกู้ให้แก่ทางการอินเดียโดยคิดดอกเบี้ยเพียง 0.1% เท่านั้น โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 50 ปี
เส้นทางการเดินทางด้วยรถยนต์ระหว่างมุมไบและอาเมดาบัด
ด้วยรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนี้ ระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมืองมุมไบและเมืองอาเมดาบัดจะลดลงจาก 7 ชั่วโมงเหลือเพียง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้การเลือกวางระบบลอดใต้ทะเลแทนการวางระบบบนพื้นดินตามปกติ ทำให้ทางการอินเดียไม่ต้องเวนคืนพื้นที่จากประชาชน และไม่ไปรบกวนพื้นที่เกษตรกรรมตามแนวรถไฟอีกด้วย
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ซ้าย) และนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย (ขวา)
อย่างไรก็ดี ยังมีชาวอินเดียจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เช่น ไม่มั่นใจในการบริหารของทางการอินเดียที่มักปล่อยปละละเลยด้านความปลอดภัย หรือมองว่ารัฐบาลควรนำเงินทุนในส่วนนี้ไปแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญกว่าก่อน เป็นต้น
ในอีกมุมหนึ่ง สื่อบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่า การที่ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลืออินเดียในโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ อาจเพราะต้องการสกัดการขยายอิทธิพลของจีนด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศแถบเอเชียใต้ ที่ทางการจีนได้พยายามดำเนินการมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
---------------------------------------
ที่มา : The Economic Times
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 21/02/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |