อย่างที่หลายท่านน่าจะทราบกันดีว่า CPU คือหัวใจหลักสำคัญของคอมพิวเตอร์ ในด้านการประมวลผลต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่าภายใน CPU ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญประกอบอยู่ด้วยนั่นคือ แคช (Cache) ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยความจำ RAM ของ CPU โดยเฉพาะ โดยหน้าที่ของแคชนั้น คือการเก็บคำสั่ง หรือข้อมูลที่ใช้งานอยู่บ่อยครั้ง และป้อนให้ CPU ทำให้สามารถประมวลผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายใน CPU ก็มีแคชอยู่หลายระดับด้วยกัน ไล่ตั้งแต่ L1, L2, L3 ถึง L4 ซึ่งจะมีขนาด ตำแหน่งการจัดวาง และความเร็วต่างกันออกไป
แต่รูปแบบการทำงานของระบบแคชในปัจจุบัน ยังไม่ค่อยทรงประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากมันจะคอยเก็บข้อมูลทุกๆ อย่าง ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว จะส่งผลต่อความเร็วในการป้อนข้อมูลกลับไปให้ CPU และเนื่องด้วยปัจจัยนี้เอง ทีมวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (CSAIL) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) จึงได้เกิดแนวคิดในการสร้างระบบแคชแบบใหม่ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ Jenga
ความพิเศษของ Jenga คือมันสามารถสร้างลำดับขั้นของแคช (Cache Hierarchies) ขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง เพื่อทำงานร่วมกับโปรแกรมแต่ละชนิด นอกจากนี้ มันยังสามารถคำนวนได้ว่า ควรเก็บข้อมูลของแคชเอาไว้ที่ระดับใด ผลลัพธ์คือ จะช่วยให้ย่นระยะเวลาในการป้อนข้อมูลกลับไปให้ CPU ประมวลผลนั่นเอง โดยทางทีมวิจัยได้ลองนำ Jenga ไปจำลองการทำงาน (Simulation) บน CPU แบบ 36-Core ซึ่งพบว่า Jenga ช่วยให้ CPU สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้นราว 30% พร้อมกับประหยัดไฟมากกว่าเดิมถึง 85% ด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นผลการทดสอบที่ค่อนข้างน่าประทับใจเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพของ Jenga ในที่นี้ ก็เป็นเพียงแค่การจำลองการใช้งานเท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า หากนำ Jenga มาใช้งานกับชิปเซ็ตประมวลผลทั่วๆ ไป ที่มีจำนวน Core น้อยกว่า 36-Core จะส่งผลต่อตัวเลขประสิทธิภาพที่มากขึ้น หรือลดน้อยลงด้วยหรือไม่ ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า Jenga จะถูกพัฒนาได้จริงในช่วงเวลาใด และแบรนด์ใดจะได้เป็นค่ายแรกที่ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกันแน่ครับ
---------------------------------------
ที่มา : engadget, fossbyte
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 12/07/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |