หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

Microsoft ผุดโปรเจกต์ Hanover พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เขียนโปรแกรมช่วยมนุษย์รักษาโรคมะเร็งใน 10 ปีข้างหน้า

การที่บริษัทไอทีจะเข้ามามีส่วนร่วมกับวงการแพทย์ เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุดไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่าทาง Google เตรียมผลักดันระบบ DeepMind ที่เคยโชว์ความสามารถในการปราบแชมป์โลกโกะมาแล้ว ให้มาอยู่ในวงการแพทย์เพื่อช่วยวิเคราะห์มะเร็งในอวัยวะบางส่วน ล่าสุดอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีอย่าง Microsoft ได้เริ่มโปรเจกต์ช่วยรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ระบบ AI เช่นกัน พร้อมคาดหวังใช้งานจริงภายใน 10 ปีข้างหน้านี้

 

ล่าสุดทางบริษัท Microsoft ได้ผุดโปรเจกต์ Hanover เพื่อตั้งเป้าให้ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการวิเคราะห์และวางแผนในการรักษาโรคมะเร็งของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในโปรเจกต์ที่ทางบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วม คือ การประยุกต์ใช้ machine learning หรือ การให้ระบบเรียนรู้ข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งระบบนี้มีความสามารถในการประมวลภาษาของมนุษย์ (natural language processing) และสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งที่มีจำนวนมาก นำมาประมวลผลและให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้นักวิจัยสามารถมองหาข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหมดที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลให้ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Microsoft ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ร่วมงานกับวงการแพทย์ด้านมะเร็งอยู่ เนื่องจากทาง IBM อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ก็กำลังซุ่มพัฒนาระบบดังกล่าวเช่นกันในชื่อ Watson Oncology

นอกจากนี้ทาง Microsoft ยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประยุกต์ใช้ ระบบการมองภาพของคอมพิวเตอร์ (computer vision) ในวงการรังสีวิทยา เพื่อทำการจดบันทึกก้อนเนื้อร้ายในแต่ละช่วงเวลาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมทั้งยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาที่ทางบริษัทระบุว่าเป็นโปรเจกต์ที่ท้าทายที่สุด คือ การเขียนโปรแกรมสั่งงานเซลล์ เหมือนกับที่มนุษย์เขียนโปรแกรมสั่งงานคอมพิวเตอร์โดยใช้โค้ดนั่นเอง ซึ่งทีมนักวิจัยวางแผนที่จะหาวิธีในการเขียนชุดคำสั่งใหม่ให้กับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ เพื่อแก้ไขระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

 

ทั้งนี้ทางบริษัทระบุว่า กระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 5 ถึง 10 ปีในการพัฒนาก่อนที่จะนำมาใช้งานจริงได้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์ที่เทคโนโลยีอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ในการที่จะช่วยมนุษย์รักษาโรคร้ายต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นั่นเอง

 

---------------------------------------
ที่มา : techcrunch, the independent

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

 

Update : 22/09/2016

Microsoft





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy