หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ สมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ (Modular) มีต้นกำเนิดมาจากไหน ปัจจุบันเปลี่ยนไปเพียงใด

ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบันจะถูกพัฒนาให้มีความก้าวล้ำขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานทุกรูปแบบ แต่มือถือยังมีข้อจำกัดอีกหนึ่งอย่างคือ ผู้ใช้ไม่สามารถอัปเกรดฮาร์ดแวร์ภายในตัวเครื่องด้วยตัวเองได้ ซึ่งหากอยากได้สมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าเดิม ก็ต้องจัดการซื้อเครื่องใหม่เท่านั้น แต่ยังมีผู้ผลิตบางส่วนที่พยายามฉีกกรอบสมาร์ทโฟนรูปแบบเดิมๆ เหล่านี้ เพื่อเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายในการอัปเกรด รวมไปถึงช่วยลดขยะอิเล็กทรอกนิกส์จากสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้ว

โดยทางออกที่ว่านี้ก็คือ สมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ หรือ Modular Phone นั่นเอง ซึ่งหลายท่านคงคุ้นชื่อสมาร์ทโฟนในลักษณะนี้มาจาก Project Ara ของ Google แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วยังมีสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นที่เริ่มบุกเบิก Modular Phone มาก่อน Google เสียอีก ซึ่งภายในวันนี้ทางทีมงานจะพาไปย้อนรอยประวัติศาตร์ของ Modular Phone ว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน และในปัจจุบันถูกพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด หากพร้อมแล้ว เราไปรับชมพร้อมๆ กันดีกว่าครับ

ต้นกำเนิดของดีไซน์แบบ Modular

Handspring Visor

จริงๆ แล้ว แนวคิดของแก็ดเจ็ตที่สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้นั้นไม่ได้เริ่มมาจากสมาร์ทโฟนแต่อย่างใด เพราะผู้ใช้งาน PC คงจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า เราสามารถอัปเกรดชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องได้ไม่ว่าจะเป็น การ์ดจอ, หน่วยความจำ หรือชิปเซ็ตประมวลผล เพียงแค่ถอดของเก่าออก แล้วใส่ของใหม่ที่รองรับกับเมนบอร์ดเพียงเท่านั้น แต่แนวคิดดังกล่าวได้เริ่มนำมาสานต่อให้อยู่ในรูปแบบของอุปกรณ์พกพามากขึ้น ด้วยเครื่อง PDA (personal digital assistant) หรือเครื่องคอวพิวเตอร์ขนาดเล็กนั่นเอง

หน้าตาของอุปกรณ์เสริม ซึ่งผู้ใช้สามารถำไปเสียบด้านหลังได้

โดยภายในปี 1999 Handspring ได้เผยโฉม Visor ออกมา ซึ่งนับว่าเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีฟีเจอร์ Modular เนื่องจากมาพร้อมกับช่องเสียบที่เรียกว่า Springboard Expansion Slot ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำอุปกรณ์เสริมไม่ว่าจะเป็น GPS, โมเด็มโทรศัพท์ หรือกล้องมาเสียบกับ Visor ได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวทำให้ Handspring ได้รับกายกย่องจากนิตยสารชื่อดังอย่าง PC Magazine

Modular Phone เครื่องแรกของโลก

Modu

สำหรับ Modular Phone ที่ได้เริ่มมีการนำมาวางจำหน่ายครั้งแรกนั้น เป็นผลงานจากบริษัทสตาร์ทอัพของอิสราเอลนามว่า Modu โดยโทรศัพท์ของ Modu ได้ถูกนำไปเปิดตัวภายในงานมหกรรมมือถือสุดยิ่งใหญ่ MWC 2008 ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปีแล้ว แต่ Modu ยังคงสร้างชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันด้วยการครองสถิติโลก "มือถือที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก" ด้วยน้ำหนักเพียง 40.1 กรัมเท่านั้น โดยรูปแบบการทำงานของมือถือ Modu ผู้ใช้สามารถสวมหน้ากากให้กับตัวเครื่อง เพื่อเพิ่มปุ่มควบคุมในรูปแบบต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Modu จะเป็นมือถือที่น่าจับตามองรุ่นหนึ่ง แต่ทว่ากลับแจ้งเกิดภายใต้เงาของ iPhone ที่กำลังเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว Modu ได้ล้มเลิกกิจการไปเมื่อช่วงต้นปี 2011 และขายสิทธิบัตรหลากหลายฉบับให้แก่ยักษ์ใหญ่ Google

 

กำเนิด Phonebloks และ Project Ara

Phonebloks

สำหรับ Phonebloks นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกภายใต้คอนเซ็ปท์ Modular ที่สามารถดึงความสนใจจากผู้ใช้งานวงกว้างได้เป็นอย่างดี สมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2013 จากผลงานของดีไซน์เนอร์ชาว ดัตซ์ อย่าง Dave Hakkens ซึ่งหลังจากนั้น Phonebloks ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีโมดูลเสริมให้เลือกนำมาประกอบแบบมากมาย โดยชิ้นส่วนโมดูลถูกดีไซน์มาในรูปแบบของ แท่งสี่เหลี่ยม ซึ่งผู้ใช้สามารถนำมาติดกับบอดี้หลักของตัวเครื่องได้ เพื่อช่วยให้เราสามารถสร้างสมาร์ทโฟนตามแบบฉบับของตนเอง

เนื่องด้วยความยืดหยุ่น และแนวคิดของ Phonebloks ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า Phonebloks อาจกลายเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จริงภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ทว่าดีไซน์เนอร์รายนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะผลิตสมาร์ทโฟนในลักษณะนี้ด้วยตัวเขาเอง แต่เป้าหมายหลักของเขาคือ จุดประกายแนวคิดให้แก่บริษัทรายใหญ่ให้ดำเนินธุรกิจในทิศทางใหม่ เพื่อช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนบ่อยๆ นั่นเอง

ไอเดียของ Hakkens ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่อย่าง Xiaomi และ ZTE รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพ Fairphone และ Puzzlephone อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นบนท้องตลาดในวงการมือถือให้ความสนใจโปรเจ็กต์นี้มากมาย แต่ Phonebloks หันไปจับมือผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Google ที่มีโครงการพัฒนามือถือ Modular อยู่แล้วในชื่อ Project Ara ที่หลายคนน่าจะเคยคุ้นหูมาบ้าง

Project Ara

สำหรับ Project Ara แรกเริ่มนั้นถูกพัฒนาภายใต้ทีม ATAP ของ Motorola ซึ่งในขณะนั้นยังคงดำเนินงานในฐานะบริษัทลูกของ Google อยู่ โดยถึงแม้ว่าภายในระยะเวลาต่อมา Google จะขาย Motorola ให้แก่ทาง Lenovo ไป แต่ก็ยังคงเลือกเก็บทีม ATAP ไว้เพื่อพัฒนา Prohect Ara ต่อไป

โดยจุดมุ่งหมายหลักแรกของ Project Ara นั้น คือการเผยโฉม สมาร์ทโฟนแบบถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ให้แก่ชาวโลก ด้วยราคาเริ่มต้น 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 บาท ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกซื้อโมดูลเสริมที่คล้ายคลึงกับตัวต่อ Lego มาประกอบเข้ากับตัวเครื่องได้อย่างง่ายดาย เพื่อสร้างสมาร์ทโฟนสเปกแรงตามฝันได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา คอนเซ็ปท์การทำสมาร์ทโฟนในรูปแบบดังกล่าวกลับถูกพับไป ซึ่งทาง Google ได้หันไปพัฒนามือถือที่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนหลักภายในตัวเครื่องได้แทน โดยวางแนวคิด Modular เป็นเพียงแค่ฟีเจอร์เสริมเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้น Project Ara ก็ยุติโครงการพัฒนาไปในระยะเวลาต่อมา แต่โครงการดังกล่าวยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ซักทีเดียว เนื่องจากมีรายงานเปิดเผยว่า Google อาจขายสิทธิ์ให้แก่นักพัฒนารายอื่นนำไปสานต่อในอนาคตได้

 

ยุคใหม่ของ Modular Phone : Fairphone 2, LG G5 และ Moto Z

ถึงแม้ว่ามือถือ Modu จะเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการ Modular Phone มาเป็นเวลานาน แต่ในปี 2015 Fairphone 2 สมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ถือกำเนิดขึ้นมาร่วมท้าชิงตำแหน่งด้วย อีกทั้ง ยังเป็นสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้งานทั่วๆ ไปสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ง่าย โดย Fairphone 2 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติ ดัตช์ เช่นเดิม ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดที่ต้องการให้ใช้งานได้ยาวนานที่สุด และง่ายต่อการซ่อมแซม

Fairphone 2 ยังมีจุดเด่นที่กระบวนการผลิตซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่สามารถดีไซเคิลได้ ซึ่งวิธีการอัปเกรดหรือเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ของ Fairphone 2 ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่เรามีไขควงด้ามเล็กๆ ไขฝาหลังเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปิดออกมา จะมีโมดูลเสริมติดตั้งอยู่ภายใน 7 ส่วนด้วยกัน แถมยังถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่าได้อย่างง่ายๆ ด้วย

สมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าว สามารถทำยอดขายได้ราว 40,000 เครื่องหลังจากเปิดตัวได้ 6 เดือน ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลขอาจจะดูน้อยไปซักนิด แต่แนวคิดสมาร์ทโฟน Fairphone 2 ได้กลายเป็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า วงการ Modular Phone จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งภายในอนาคต

LG G5

เมื่อปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นจริง หลัง 2 ผู้เล่นหลักของวงการสมาร์ทโฟน ได้เปิดตัวมือถือภายใต้แนวคิด Modular ออกมาให้เห็นกัน โดยแบรนด์แรกได้แก่ LG Electronics ที่ได้เปิดตัว LG G5 สมาร์ทโฟนระดับเรือธง ที่มาพร้อมกับระบบถอดเปลี่ยนโมดูลเสริมในชื่อ “Friends” ซึ่งวิธีเปลี่ยนโมดูลนั้น ผู้ใช้จะต้องถอดชิ้นส่วนบริเวณด้านล่าง รวมถึงแบตเตอรี่ออกเสียก่อน และนำแบตเตอรี่ไปเสียบกับโมดูลเสริมที่ต้องการ และเสียบเข้าโทรศัพท์อีกรอบหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี โมดูลเสริมของ LG นั้น มีให้เลือกใช้ไม่กี่ชิ้น อีกทั้ง การเดินเกมของ LG ในครั้งนี้ก็ไปไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ หลังยอดขาย LG G5 ไม่ค่อยสู้ดีนัก ซึ่งภายในปีนี้ทาง LG ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อีกครั้งกับ LG G6 ซึ่งไม่ใช่สมาร์ทโฟนแบบ Modular อีกต่อไปแล้ว

Moto Z และ Moto Mods

สำหรับ Moto Z สมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนโมดูลเสริมกับแนวคิด Moto Mods ที่เปิดตัวออกมาทีหลัง ดูเหมือนว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร ซึ่งถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วยอดขายของ LG G5 จะมากกว่า Moto Z ก็ตาม แต่หากมองยอดขายโดยรวมแล้ว ยังน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยถึงแม้ว่า Moto Z จะเป็นสมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนเหมือนกับ LG G5 แต่มีความแตกต่างตรงที่ ผู้ใช้งานไม่ต้องเปิด-ปิดเครื่องเพื่อเปลี่ยนโมดูลแต่อย่างใด โดยเราสามารถนำ Moto Mods ไปประกบกับแถบแม่เหล็กที่ด้านหลังตัวเครื่องได้เลยทันที ทำให้ใช้งานค่อนข้างง่ายกว่า โดยโมดูลเสริมของฝั่ง Moto นั้น มีให้เลือกหลากหลายไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นลำโพง JBL SoundBoost, Power Pack ที่ช่วยเพิ่มแบตให้กับตัวเครื่อง รวมถึง Moto Insta-Share Projector ที่ผู้ใช้สามารถฉายแสงโปรเจ็กเตอร์ไปที่ผนังได้

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า Modular Phone ถูกพัฒนาไปไกลเลยทีเดียว ซึ่งจากนี้วงการนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น เราคงไม่อาจทราบคำตอบได้แบบแน่ชัด แต่หากผู้พัฒนาต้องการให้ Modular Phone ยังคงได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ก็คงต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มคุณสมับติของ Modular Phone ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งให้แก่มือถือลักษณะนี้

ภายในปีนี้ถึงแม้ว่า LG จะถอนตัวจากวงการนี้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าทาง Motorola จะสานต่อโปรเจ็กต์นี้ต่อไป หลังเริ่มพิจารณาขยายแนวคิดอุปกรณ์เสริม Moto Mods ให้กว้างขวางยิ่งกว่าเดิม รวมถึงการดึงตัวนักพัฒนารายอื่นเพื่อช่วยสร้างสรรค์ Moto Mods นอกเหนือจาก Moto ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะยังคงสานต่อ Modular Phone แล้ว ภายในปีนี้ทาง Alcatel และ Puzzlephone ก็มีแผนที่จะเผยโฉมมือถือถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้เช่นเดียวกัน ทำให้เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า Modular Phone จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป จะล้ำหน้ากว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งไม่แน่ว่าภายในปีนี้ อาจเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็เป็นได้

 

---------------------------------------
ที่มา : PhoneArena

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 12/04/2017

modular phone






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy