หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

รังไข่เทียม 3 มิติ ที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ สามารถให้กำเนิดหนูทดลองได้แล้ว นักวิทย์ฯ เผยเตรียมต่อยอดนำมาใช้กับมนุษย์ในอนาคต แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Northwestern สามารถพัฒนารังไข่เทียมชีวภาพปลอม ด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพแบบ 3 มิติได้สำเร็จแล้ว หลังนำไปทดสอบกับหนู แล้วพบว่า รังไข่เทียมนี้สามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้

โดยโปรเจ็คดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Feinberg School of Medicine ใน Northwestern และ McCormick School of Engineering  กับการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพแบบ 3 มิติ และเซลล์จากเยื่อรังไข่ มาสร้างเป็นโครงเลี้ยงเซลล์ (Scaffold) ก่อนจะฝังลงในตัวของหนูทดลอง ซึ่งรังไข่เทียมนี้ จะช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนให้เร็วขึ้น และเพิ่มอัตราการตกไข่ของหนูทดลองให้มากขึ้นอีก

แม้ว่าผลการศึกษานี้ จะยังคงทดสอบเฉพาะในหนูทดลองเท่านั้น แต่ก็มีเป้าหมายที่จะนำไปใช้กับมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เคยมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กมาก่อน จะเสี่ยงต่อการมีบุตรไม่ได้ เพราะกระบวนการรักษาโรคมะเร็งนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรังไข่ เนื่องจากรังไข่จะต้องถูกแช่แข็งเพื่อรักษาเนื้อเยื่อเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ รังไข่เทียมอาจจะช่วยทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสจะตั้งครรภ์ได้นั้น สามารถมีบุตรได้

ยิ่งไปกว่านั้น รังไข่เทียมจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการมีบุตรยาก รวมไปถึงผู้หญิงที่คิดอยากจะมีลูกแต่อายุเยอะแล้ว เนื่องจากผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ อัตราการตกไข่ค่อนข้างต่ำทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยาก แต่การฝังรังไข่เทียมในมนุษย์ จะมีวิธีการที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า เพราะใช่ว่าแค่รังไข่เทียมเพียงอย่างเดียว จะทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ เพราะต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง นั่นก็คือ การสร้าง iPS Cells ด้วยการใช้สเต็มเซลล์ของผู้หญิงเพื่อสร้างไข่ ประกอบกับการใช้ฮอร์โมนเพศ และค่อยฝังรังไข่เทียมนั้นในตัวมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จึงจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ สมบูรณ์ได้

แม้ข้อมูลข้างต้น จะดูเหมือนภาพยนตร์แนว Sci-Fi แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถสร้างไข่จากสเต็มเซลล์ได้สำเร็จแล้ว โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จจากการสร้างไข่โดยใช้เซลล์ผิวหนังของหนู และให้กำเนิดลูกหนูมาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบริษัทรับฝากไข่อย่าง Prelude ใน Atlanta ซึ่งรับฝากไข่ของสตรีในช่วงอายุยังน้อย และสามารถนำกลับมาใช้ได้เมื่อพร้อมที่จะมีบุตร แม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม โดย Prelude ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดรักษาคนไข้ในสหรัฐฯ เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต แต่จากรายงานพบว่า ประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งในญี่ปุ่นและแคนาดา

อย่างไรก็ดี กระบวนการสร้างรังไข่เทียมโดยใช้เครื่องพิมพ์แบบ 3 มิตินั้น ยังไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้โดยตรง เนื่องจากรังไข่ของมนุษย์มีขนาดที่ใหญ่กว่าหนู อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้อย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของไข่ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการฝังรังไข่เทียมในตัวมนุษย์ ทำให้ทางนักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาหาวิธีแก้ไขกันต่อไป เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ในอนาคต

 

 

 

---------------------------------------
ที่มา : techcrunch.com

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 20/05/2017






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy