เชื่อว่าตอนนี้เกมเมอร์หลายๆ ท่านคงได้เป็นเจ้าของ Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมลูกผสมรุ่นใหม่ล่าสุดกันเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ร้านเกมใหญ่ๆ เริ่มนำเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ใครที่เคยติดตามข่าวของ Nintendo Switch จะทราบว่าเจ้าเครื่องเล่นเกมนี้มีจุดเด่นไม่เหมือนใครคือเป็นได้ทั้งเครื่องเกมพกพาและคอนโซลต่อทีวี ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในวงการเกมเท่าไหร่ (นอกจาก WiiU) อย่างไรก็ดี ในวันนี้เราไม่ได้จะมาบรรยายสรรพคุณของ Nintendo Switch แต่อย่างใดแต่จะพาทุกท่านไปรู้จักกับมันให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการแกะออกมาดูชิ้นส่วนและโครงสร้างภายในกันแบบชัดๆ ด้วยฝีมือการชำแหละของเว็บไซต์ iFixit ภายใต้ตัวเครื่องสีดำๆ จะมีอะไรซ่อนอยู่บ้างเราไปดูกันเลยครับ
*บทความนี้ไม่ใช่คู่มือการซ่อม Nintendo Switch แต่อย่างใด
สเปกเบื้องต้นของ Nintendo Switch
หน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra (custom)
หน้าจอสัมผัส LCD ขนาด 6.2 นิ้ว ความละเอียด 1280 × 720 พิกเซล สามารถส่งภาพความละเอียดสูงสุด 1920 x 1080 พิกเซลเมื่อเชื่อมต่อกับหน้าจอภายนอกผ่านพอร์ต HDMI ได้
ความจุภายใน 32 GB รองรับหน่วยความจำภายนอกเพิ่มเติมผ่าน microSDHC หรือ microSDXC ได้สูงสุด 2 TB
รองรับการเชื่อมต่อ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac, Bluetooth 4.1,
พอร์ตชาร์จ USB Type-C และช่องเสียบหูฟังที่ตัวเครื่อง
พอร์ต USB มาตรฐาน 3 ช่องบน Dock
ลำโพงสเตอริโอ
แบตเตอรีความจุ 4310 mAh 3.7V เล่นเกมได้นาน 2.5 - 6.5 ชั่วโมง
แท่งบังคับ Joy-Con เชื่อมต่อผ่านระบบ Wireless สามารถถอดได้
เมื่อทราบข้อมูลสเปกเบื้องต้นของ Nintendo Switch แล้ว ก็ไปดูการแยกส่วนกันเลยครับ
ด่านแรกที่ต้องเจอในการชำแหละ Nintendo Switch คือน็อตหัวสามแฉกที่ยึดตัวเครื่องเอาไว้ ซึ่งน็อตประเภทนี้หาสกรูมาขันค่อนข้างยาก แต่เมื่อขันออกมาได้แล้วชิ้นส่วนภายในเกือบทั้งหมดสามารถถอดเปลี่ยนได้อย่างง่ายดายเมื่อเทียบกับแก็ดเจ็ตประเภทอื่นๆ ไม่ค่อยมีการใช้กาวเท่าไหร่
เมื่อเปิดฝาออกมาแล้วเราจะพบว่า Nintendo Switch มีการจัดวางฮาร์ดแวร์ภายในที่เน้นการระบายความร้อน โดยมี heatsink ทองแดง, พัดลม และแผ่นเหล็กนำความร้อน ดูเผินๆ จะคล้ายกับระบบระบายความร้อนที่เห็นในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เมื่อใช้งานในโหมดพกพา การประมวลผลกราฟิกจะลดระดับลงเพื่อลดความร้อนและลดภาระการทำงานของพัดลม ซึ่งจะส่งผลให้กินแบตน้อยลงด้วย แต่เมื่อเสียบเข้ากับ Dock ตัวเครื่องจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
หน่วยความจำภายในแบบ Flash ความจุ 32 GB สล็อตใส่ microSD และตัวอ่านแผ่นเกมสามารถถอดได้ด้วยการขันน็อต และหน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra พร้อม RAM 2 GB LPDDR4 จำนวน 2 ตัวรวมเป็น 4 GB และโมดูลอื่นๆตามภาพ
หน้าจอทัชสกรีนกับกระจกจอไม่ได้เป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้ซ่อมง่ายและเสียค่าใช้จ่ายไม่มากหากกระจกจอแตก อย่างไรก็ตามทั้งสองชิ้นถูกยึดติดกันด้วยกาว จำเป็นต้องใช้ความร้อนละลายกาวและแงะออกอย่างระมัดระวัง
Joy-Con ทั้ง 2 ข้างมีฮาร์ดแวร์ภายในไม่เหมือนกัน โดยสีแดงจะมีฮาร์ดแวร์เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่เสาสัญญาณ NFC เพื่อรองรับฟิกเกอร์ Amiibo (เป็นฟิกเกอร์ที่สามารถนำไปสแกนเพื่อรับไอเทมในเกมหรืออื่นๆได้) นอกจากนี้ยังมีกล้องและไฟ LED อินฟาเรดสำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือและใบหน้า เพื่อเป็นลูกเล่นสำหรับเกมบางเกมด้วย
Joy-Con ทั้ง 2 ข้างมีมอเตอร์สั่น "HD Rumble" เพื่อตอบสนองต่อการสัมผัสแบบสมจริง และแบตเตอรี่ความจุ 525 mAh แยกต่างหากในแต่ละข้าง
ตัว Dock มีแผงวงจรที่มีพอร์ตเชื่อมต่อหลายพอร์ต ได้แก่ USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง USB 3.0 จำนวน 1 ช่อง HDMI 1 ช่อง และพอร์ตชาร์จแบตเตอรี ไม่มีหน่วยประมวลผลใดๆ หมายความว่าเมื่อเสียบ Nintendo Switch ลงกับ Dock ตัวเครื่องจะทำงานอย่างเต็มกำลังด้วยตนเอง Dock ไม่ได้ช่วยประมวลผลแต่อย่างใด
ชมวิดีโอการชำแหละอย่างละเอียดโดย iFixit
หลังจากชำแหละดูอย่างละเอียด iFixit ได้ให้คะแนนความ "ซ่อมได้" สำหรับ Nintendo Switch ไป 8/10 คะแนน จัดว่าซ่อมได้ไม่ยากหากมีทักษะ ฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่ถูกยึดด้วยน็อตและสามารถถอดเปลี่ยนได้ ส่วนแบตเตอรี่แม้จะเชื่อมกับฐานด้วยกาวแต่ก็สามารถเปลี่ยนทั้งชิ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้แกะชิ้นส่วนของ Nintendo Switch ด้วยตัวเองไม่ว่ากรณีใดๆ หากสงสัยว่าตัวเครื่องมีปัญหาควรติดต่อร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเพื่อขอเปลี่ยนสินค้าหรือชดเชยตามความเหมาะสมจะดีกว่าครับ
---------------------------------------
ที่มา : iFixit
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 07/03/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |