เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง ซัมซุง ประเทศไทย ได้จัดทริป Galaxy K Zoom Blogger Trip พร้อมกับเชิญสื่อมวลชน และบรรดาบล็อกเกอร์ ร่วมสัมผัสและทดลองใช้ Samsung Galaxy K Zoom สมาร์ทโฟนติดกล้องซูม ที่มีคุณสมบัติในการซูมแบบ Optical ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งทีมงาน techmoblog ได้มีโอกาสร่วมสัมผัส Samsung Galaxy K Zoom ด้วยเช่นกัน และในวันนี้ จะมาแชร์ประสบการณ์การใช้งาน Samsung Galaxy K Zoom ให้ชมกันว่า น่าใช้ขนาดไหน มีจุดเด่นอย่างไร กับบทความ รีวิว Samsung Galaxy K Zoom โดยทีมงาน techmoblog ครับ
สเปค Samsung Galaxy K Zoom
- จอแสดงผลกว้าง 4.8 นิ้ว แบบ HD Super AMOLED Capacitive Touchscreen 16.7 ล้านสี ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล
- หน่วยประมวลผลแบบ Hexa-Core Processor ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล 2 ส่วน ได้แก่ Quad-Core Processor ความเร็ว 1.3 GHz และ Dual-Core Processor ความเร็ว 1.7 GHz
- หน่วยประมวลผลภาพ Mali-T624 GPU
- หน่วยความจำ RAM ขนาด 2 GB
- หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง ขนาด 8 GB รองรับ microSD card สูงสุด 64 GB
- รัน Android 4.4.2 KitKat
- รองรับ NFC, Bluetooth
- รองรับเครือข่าย 3G ทุกคลื่นความถี่
- กล้องด้านหน้า ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
- กล้องด้านหลัง ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล พร้อมระบบ Auto Focus และไฟแฟลชแบบ Xenon Flash
- ระบบ Optical Zoom 10 เท่า และมีระบบกันภาพสั่นไหวในตัว
- แบตเตอรี่ขนาด 2430 mAh
- มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีขาว (Shimmery White), สีดำ (Charcoal Black) และสีฟ้า (Electric Blue)
>> สเปค Samsung Galaxy K Zoom อย่างละเอียด คลิกที่นี่
รีวิว Samsung Galaxy K Zoom : ดีไซน์ และ การออกแบบ
สำหรับดีไซน์ของ Samsung Galaxy K Zoom ก็ยังคงคล้ายกับ มือถือในตระกูล Galaxy รุ่นอื่นๆ ครับ แต่จะได้รับอิทธิพลด้านการออกแบบมาจาก Samsung Galaxy S5 เสียมากกว่า โดยด้านหน้าตัวเครื่อง มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 4.8 นิ้ว แบบ HD Super AMOLED Capacitive Touchscreen 16.7 ล้านสี ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล ส่วนกระจกหน้าจอ เป็นแบบ Corning Gorilla Glass 3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันแรงกระแทก หรือรอยขีดข่วน
ด้านบนของหน้าจอแสดงผล ประกอบด้วย ลำโพงสำหรับสนทนา, Accelerometer Sensor ช่วยหมุนหรือปรับเปลี่ยนทิศทางการแสดงผลของหน้าจอให้แบบอัตโนมัติ ตามลักษณะการจับถือของผู้ใช้, Proximity Sensor สำหรับการปิดหน้าจอแบบอัตโนมัติขณะสนทนา เพื่อประหยัดพลังงาน และกล้องด้านหน้า ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
ด้านล่างของหน้าจอแสดงผล ประกอบด้วย ปุ่มควบคุมการทำงาน 3 ปุ่มหลัก ได้แก่ ปุ่มเมนู, ปุ่ม Home และปุ่มย้อนกลับ (Back)
มาดูด้านข้างตัวเครื่องกันบ้างครับ ด้านขวา ประกอบด้วย ปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่ม Power สำหรับเปิด-ปิดเครื่อง หรือล็อคหน้าจอแสดงผล และปุ่มชัตเตอร์สำหรับกดถ่ายภาพ ส่วนด้านซ้ายของตัวเครื่อง ประกอบด้วย ช่องสำหรับ microSD card แบบมีฝาปิด รองรับสูงสุด 64 GB และรูสำหรับร้อยสายคล้องมือ
ด้านบนของตัวเครื่อง ประกอบด้วย ช่องหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มิลลิเมตร และไมโครโฟนตัวที่สอง สำหรับบันทึกเสียงวีดีโอ ส่วนด้านล่างของตัวเครื่อง เป็นไมโครโฟนตัวหลักสำหรับสนทนา และพอร์ต microUSB
พลิกมาด้านหลังตัวเครื่องกันบ้าง จะเห็นได้ว่า การออกแบบ Samsung Galaxy K Zoom นั้น เหมือนกับกล้องดิจิตอลครับ แต่เด่นกว่าตรงที่ สามารถใช้งานเป็นโทรศัพท์ได้ โดยกล้องด้านหลัง มาพร้อมกับความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชแบบ Xenon ที่ให้ความสว่างที่มากกว่า และไกลกว่าไฟแฟลชแบบ LED นอกจากนี้ ยังให้โทนสีที่ดูเป็นธรรมชาติกว่าอีกด้วย
Samsung Galaxy K Zoom นั้น มาพร้อมกับการซูมแบบ Optical ได้ถึง 10 เท่า พร้อมฟีเจอร์การใช้งานระดับมือโปร ส่วนฝาหลังตัวเครื่อง จะเหมือนกับ Samsung Galaxy S5 ครับ
ถ้าหากใช้งานทั่วๆ ไป เลนส์กล้องจะไม่ยื่นออกมา แต่เมื่อใดก็ตามที่เปิดใช้งานกล้อง ตัวเลนส์จะยื่นออกมาลักษณะนี้ เหมือนกับกล้องดิจิตอลนั่นเอง นอกจากนี้ Samsung Galaxy K Zoom ยังเพิ่มฟังก์ชัน สามารถเปิดใช้งานกล้องได้ง่ายขึ้น และไวขึ้น ด้วยการกดปุ่ม Volume Up + ชัตเตอร์ รอประมาณ 1-2 วินาที ก็จะเข้าสู่โหมดกล้องทันที ไม่ต้องปลดล็อคหน้าจอก่อนแต่อย่างใด
ฝาหลังตัวเครื่อง สามารถถอดแกะได้ ภายในประกอบด้วย ช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดแบบ microSIM และแบตเตอรี่ขนาด 2430 mAh ซึ่งจากการทดสอบใช้งานทั้งในเรื่องของการถ่ายภาพ และทดสอบแอพพลิเคชั่นเล็กๆ น้อยๆ สามารถใช้งานได้เกือบทั้งวันครับ ควรพกพา Power Bank หรือแบตเตอรี่สำรองติดตัวไปด้วย
รีวิว Samsung Galaxy K Zoom : ทดสอบกล้องด้านหลัง ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล พร้อมฟังก์ชันการถ่ายภาพต่างๆ
เนื่องจาก Samsung Galaxy K Zoom มีจุดขายในเรื่องของการถ่ายภาพเป็นหลัก ฉะนั้น จะขอเน้นเรื่องอินเทอร์เฟสของกล้อง พร้อมกับแนะนำโหมดการถ่ายภาพที่น่าสนใจกันก่อนครับ
จะเห็นได้ว่า Samsung Galaxy K Zoom นั้น มีโหมดการถ่ายภาพให้เลือกใช้กันมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ออโต้, คำแนะนำโดยมือโปร, โปรแกรม (P), หน้าสวย, พาโนรามา, HDR, กลางคืน, ถ่ายภาพตนเอง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละโหมดนั้น จะมีคำแนะนำในการใช้งานด้วย ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลเลยว่า จะใช้งานไม่เป็น ต่อให้เป็นมือใหม่ รับรองว่า ใช้งานเป็นกันทุกคนครับ
โหมดคำแนะนำโดยมือโปร (Pro Suggest) คืออะไร? สำหรับการถ่ายภาพด้วยโหมดนี้ ผู้ใช้จะต้องกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง จากนั้น จะมีคำแนะนำปรากฏขึ้นมาครับว่า ภาพที่กำลังจะถ่าย เหมาะกับการใช้ฟิลเตอร์แบบไหน เช่น วันที่มีเมฆมาก, สีสันสดใส, สีสันอบอุ่น, ความทรงจำ หรือตู้ปลา โดยโหมดนี้ เหมาะสำหรับมือใหม่ครับ ถ่ายรูปไม่เก่ง ไม่รู้จะแต่งภาพแบบไหน ลองเข้ามาเล่นโหมด คำแนะนำโดยมือโปร กันดู
ขึ้นชื่อว่า เป็นสมาร์ทโฟนติดกล้องซูม ทั้งที โหมดการถ่ายภาพแบบ Selfie คงจะขาดไม่ได้แน่นอน ซึ่งโหมดนี้จะเน้นการถ่ายด้วยกล้องด้านหลังเป็นหลักครับ โดยอันดับแรก จะต้องเลือกโฟกัสบริเวณใบหน้าของผู้ใช้เสียก่อน จะเป็นมุมบน ล่าง ซ้าย ขวา หรือกลางภาพก็ได้ ตามแต่ที่ชอบ จากนั้น พลิกมือถือถ่ายครับ เมื่อระบบสามารถจับตำแหน่งใบหน้าของเราได้แล้ว จะมีเสียงดัง ติ๊ดติ๊ด (เสียงเหมือนกับเวลาถ่ายรูปแบบตั้งเวลา) จากนั้น ระบบจะทำการชัตเตอร์ภาพให้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกดปุ่มชัตเตอร์ หรือตั้งเวลาถ่ายภาพแต่อย่างใด ภาพที่ออกมา จะมีให้เลือก 3 ภาพด้วยกัน ที่สำคัญ ภาพที่ได้ จะมีการปรับความเนียน และความสว่างของใบหน้าให้ด้วย ซึ่งโหมดการถ่ายภาพ Selfie บน Samsung Galaxy K Zoom นั้น น่าจะถูกใจสาวๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว
อีกฟังก์ชันหนึ่งบน Samsung Galaxy K Zoom ที่อยากจะมาแนะนำ ก็คือ สามารถแยกปรับจุดโฟกัส และการชดเชยแสงได้ ซึ่งจากภาพด้านบน จะเห็นได้ว่า ภาพที่ได้จะออกมาค่อนข้างมืด ลองมาปรับกันดูครับ
จากภาพ จะเห็นได้ว่า เมื่อเราเลื่อนจุดรับแสงไปในอีกทิศทางหนึ่ง ภาพที่ได้จะสว่างขึ้นทันที ซึ่งผู้ใช้สามารถเลื่อนจุดรับแสงไปในทิศทางใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบครับว่า ต้องการให้ภาพมืด หรือสว่าง
Samsung Galaxy K Zoom มาพร้อมกับการซูมแบบ Optical ได้ถึง 10 เท่า อยากรู้ว่า ได้ไกลแค่ไหน ดูภาพด้านบนเป็นตัวอย่างครับ นอกจากนี้ ภาพที่ได้ยังคมชัดอีกด้วย เนื่องจาก Samsung Galaxy K Zoom มาพร้อมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวนั่นเอง
สำหรับการซูมนั้น ทำได้ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกก็คือ การ Pinch Zoom หรือการใช้นิ้วปรับการซูมเข้าออกเองบนหน้าจอ ส่วนแบบที่สองก็คือ ใช้ปุ่มปรับระดับเสียงครับ
นอกจากนี้ Samsung Galaxy K Zoom ยังสามารถตั้งค่าการใช้งานได้อีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
• เปิด-ปิด ไฟแฟลช
• การตั้งเวลา (2 วินาที, 5 วินาที, 10 วินาที)
• การแสดงผลการตรวจจับ (เปิดหรือปิด)
• สัมผัสหน้าจอเพื่อถ่ายภาพ (เปิดหรือปิด)
• ขนาดรูปภาพ (4:3, 3:2, 16:9, 1:1)
• เอฟเฟกซ์ (ขรุขระ, สีน้ำมัน, หงุดหงิด, ฟิชอาย, การ์ตูน, เทอร์คอยซ์, สีอ่อน, ซีเปีย, ระดับสีเทา, สีจาง, วินเทจ, ขอบภาพเบลอ, ไม่มีเอฟเฟกต์)
• ลายเซ็น (เปิดหรือปิด)
• รูปถ่ายที่แนะนำ (เปิดหรือปิด)
• ควบคุมด้วยเสียง (เปิดหรือปิด)
• ขนาดภาพวีดีโอ (สูงสุดที่ระดับ Full HD 1080p 60fps)
• มัลติโมชัน
• เสียง (ซูมอย่างเร็ว, ปกติ, ปิดเสียง)
• วินด์คัต (เปิดหรือปิด)
• ช่องมองภาพระยะไกล (เปิดหรือปิด)
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องด้านหลัง ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล
รีวิว Samsung Galaxy K Zoom : อินเทอร์เฟส และการใช้งานเบื้องต้น
แม้ว่า Samsung Galaxy K Zoom จะเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นด้านการถ่ายรูปแบบกล้องดิจิตอลเป็นหลัก แต่สำหรับอินเทอร์เฟสด้านการใช้งาน จะเหมือนกับ มือถือซัมซุง รุ่นอื่นๆ ครับ โดยมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 4.4.2 (KitKat) ส่วนการปลดล็อค ทำได้ด้วยการปัด นอกจากนี้ บนหน้า Lock Screen ยังสามารถเข้าแอพฯ กล้องได้เลยอีกด้วย ไม่ต้องปลดล็อคหน้าจอก่อน
ส่วนในหน้า Homescreen สามารถเลือก Widget และแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานบ่อย มาสร้างเป็น shortcut ได้ ส่วนการออกแบบที่เปลี่ยนไป ก็คือหน้า Homescreen รวม ซึ่งปกติ จะเรียงเป็นกรอบเล็กๆ ในหน้าจอเดียว แต่บน Android 4.4.2 (KitKat) จะเลื่อนจากซ้ายไปขวา (คล้ายกับส่วนของ Multitasking บน iOS 7) สามารถเพิ่มหรือเปลี่ยนวอลเปเปอร์ และ Widget ได้จากหน้านี้เช่นกันครับ
Notification Center แหล่งแจ้งเตือนการใช้งานต่างๆ ทั้งข้อความ, อีเมล หรือการอัพเดทแอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ ยังมีเมนูลัด สำหรับตั้งค่าการใช้งานต่างๆ เช่น Wi-Fi, GPS, เสียง หรือ Bluetooth เป็นต้น
การกดปุ่ม เมนู 1 ครั้ง เป็นการเข้าสู่เมนู Multitasking นั่นเอง ผู้ใช้สามารถเลือกเพื่อเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เคยเปิดใช้งานมาแล้วก่อนหน้านั้น หรือลบออกเมื่อไม่ใช้งาน เพื่อเป็นการเพิ่ม RAM ให้กับตัวเครื่องด้วย
ส่วนการกดปุ่ม Home ค้างไว้ จะเข้าสู่เมนู Google Now ครับ
สำหรับหน้า แอพพลิเคชั่นรวม จะเห็นได้ว่า บน Samsung Galaxy K Zoom นั้น มีอินเทอร์เฟสต่างจาก สมาร์ทโฟนซัมซุง รุ่นอื่นครับ ปกติที่แถบด้านบน จะมีเมนูย่อยๆ ให้เลือก แต่บน Android 4.4.2 (KitKat) ได้ตัดฟังก์ชันในส่วนนี้ออกไป
ส่วนเบราว์เซอร์ที่มีให้ใช้งานบน Samsung Galaxy K Zoom ได้แก่ Android Browser และ Google Chrome แต่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด เบราว์เซอร์ ที่ชอบ ได้จาก Play Store
ในส่วน Settings มีอินเทอร์เฟสที่ต่างไปจากเดิมครับ โดยจะเรียงจากบนลงล่าง ตามหัวข้อการตั้งค่าต่างๆ
หน้าการใช้งานโทรศัพท์ มีอินเทอร์เฟสไม่ต่างจากเดิม
นอกจาก Samsung Galaxy K Zoom จะมีฟังก์ชันการถ่ายรูปที่หลากหลายแล้ว ในส่วนของการปรับแต่งรูปถ่าย ยังมีฟีเจอร์การใช้งานที่น่าสนใจด้วยเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็น การหมุนภาพถ่าย, crop ภาพ, เปลี่ยนขนาดภาพ หรือปรับความสว่าง, ความเข้ม และระดับสี
ส่วนเอฟเฟกต์ ก็มีให้เลือกกว่า 20 แบบ ได้แก่ ขอบภาพเบลอ, วินเทจ, ย้อนอดีต, จางลง,เกรย์สเกล, ซีเปีย, สีอ่อน, ละอองดาว, ระเบิดแสง, เส้นเบา, ดาวน์ไลท์, การ์ตูน, เนกาทีฟ และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชัน ลบตาแดง, ใบหน้าสว่างขึ้น, แอร์บลัช, อยู่นอกโฟกัส ส่วนเมนูการตกแต่ง ประกอบด้วย สติกเกอร์, ป้าย, เฟรม, รูปวาด และ รูปภาพ เรียกได้ว่า มีให้เลือกใช้กันหลากหลายเลยทีเดียว
Notes แอพพลิเคชั่นจดบันทึกแบบย่อ รองรับภาษาไทยเต็มรูปแบบ สามารถแทรกภาพถ่ายได้ด้วยเช่นกัน
แอพพลิเคชั่น นาฬิกา ประกอบด้วย เมนูย่อย 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การเตือน, เวลาโลก, จับเวลา และตั้งเวลา
ส่วนแอพพลิเคชั่นพื้นฐานอย่าง เครื่องคิดเลข และ เครื่องบันทึกเสียง ก็มีให้ใช้งานบน Samsung Galaxy K Zoom เช่นกัน
รวมไปถึงบริการต่างๆ จากทาง Google ด้วยครับ
ลูกเล่นที่น่าสนใจบน Samsung Galaxy K Zoom ก็คือ โหมด Ultra Power Saving Mode ซึ่งเป็นโหมดการใช้งานเดียวกับ Samsung Galaxy S5 นั่นเอง โดยจะช่วยยืดการใช้งานได้ต่อไปอีกหลายชั่วโมง แม้ว่าแบตเตอรี่จะเหลือน้อยก็ตาม แต่ความแตกต่างของโหมด Ultra Power Saving Mode ระหว่าง Samsung Galaxy K Zoom และ Samsung Galaxy S5 ก็คือ เมื่อใดที่เปิดใช้โหมดดังกล่าว หน้าจอแสดงผลจะยังเป็นหน้าจอสีครับ แต่บน Samsung Galaxy S5 จะเปลี่ยนเป็นหน้าจอแบบขาวดำ
ปิดท้ายด้วย การทดสอบ Benchmark บน Samsung Galaxy K Zoom กันบ้าง โดยผลการทดสอบด้วยโปรแกรม Quadrant วัดความเร็วในการทำงานของ CPU และกราฟฟิค อยู่ที่ 14844 คะแนน ส่วน AnTuTu ทดสอบ CPU, 2D & 3D graphics, SD card และ Database อยู่ที่ 30855 คะแนน
มัลติทัช รองรับที่ 10 จุดครับ
รีวิว Samsung Galaxy K Zoom : บทสรุปการใช้งาน
สำหรับ Samsung Galaxy K Zoom นั้น จะเห็นได้ว่า แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ จะคล้ายกับบน Samsung Galaxy S5 แต่จะเน้นเรื่องการถ่ายรูปเป็นหลัก เนื่องจากมาพร้อมกับกล้องดิจิตอล ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชแบบ Xenon Flash นั่นเอง แต่ความแตกต่างระหว่าง Samsung Galaxy K Zoom และ Samsung Galaxy S5 ก็คือ ไม่ได้เน้นเรื่องด้านสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่า แอพพลิเคชั่นที่ให้มา ไม่มี S Health ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่ ซัมซุง ได้ตัดสินใจถูกต้องแล้วครับ แม้ว่า Samsung Galaxy K Zoom จะมีขนาด และน้ำหนักเบากว่า Samsung Galaxy S4 Zoom แต่ก็ถือว่า ตัวเครื่องยังคงหนา และหนักอยู่พอสมควร คงไม่เหมาะที่จะพกพาพร้อมกับการออกกำลังกาย
จุดเด่นอีกอย่างของ Samsung Galaxy K Zoom ก็คือ Ultra Power Saving Mode หรือโหมดประหยัดพลังงาน ซึ่งจะจำกัดการใช้งานในบางแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงการปิดการเชื่อมต่อ Bluetooth, Wi-Fi เพื่อช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้ใช้ได้นานขึ้นกว่าเดิม ในกรณีที่แบตเตอรี่เหลือน้อย แต่เมื่อเปิดใช้โหมดดังกล่าว หน้าจอแสดงผลยังคงเป็นหน้าจอสีครับ ต่างจาก Samsung Galaxy S5 ที่จะเปลี่ยนเป็นหน้าจอแบบขาวดำ
เห็นคุณสมบัติล้นเหลือของ Samsung Galaxy K Zoom แบบนี้ หลายๆ ท่านคงคิดว่า ราคาต้องแตะหลัก 2 หมื่นอย่างแน่นอน แต่จริงๆ แล้ว Samsung Galaxy K Zoom เคาะราคาขายแค่ 15,900 บาท มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีขาว (Shimmery White), สีดำ (Charcoal Black) และสีฟ้า (Electric Blue) วางจำหน่ายแล้ววันนี้ครับ
จุดเด่นของ Samsung Galaxy K Zoom
• จอแสดงผลกว้าง 4.8 นิ้ว แบบ HD Super AMOLED Capacitive Touchscreen 16.7 ล้านสี ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล
• หน่วยประมวลผลแบบ Hexa-Core Processor ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล 2 ส่วน ได้แก่ Quad-Core Processor ความเร็ว 1.3 GHz และ Dual-Core Processor ความเร็ว 1.7 GHz
• หน่วยประมวลผลภาพ Mali-T624 GPU
• หน่วยความจำ RAM ขนาด 2 GB
• หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง ขนาด 8 GB รองรับ microSD card สูงสุด 64 GB
• รัน Android 4.4.2 KitKat
• รองรับ NFC, Bluetooth
• รองรับเครือข่าย 3G ทุกคลื่นความถี่ (850/900/1900/2100 MHz)
• กล้องด้านหน้า ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
• กล้องด้านหลัง ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล พร้อมระบบ Auto Focus และไฟแฟลชแบบ Xenon Flash
• ระบบ Optical Zoom 10 เท่า และมีระบบกันภาพสั่นไหวในตัว
• โหมดถ่ายภาพตนเอง (Selfie) ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น เลือกจุดโฟกัสเองได้ และชัตเตอร์ให้เองเมื่อตรวจจับพบใบหน้า โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มชัตเตอร์เองแต่อย่างใด
• โหมดการใช้งานกล้อง มีให้เลือกหลากหลาย พร้อมคำแนะนำในการใช้งาน แม้จะเป็นมือใหม่ ก็สามารถใช้งานได้ง่าย
• Ultra Power Saving Mode โหมดประหยัดพลังงาน ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้ใช้ได้นานขึ้นอีก กรณีที่แบตเตอรี่เหลือน้อย แต่เด่นกว่า Samsung Galaxy S5 ตรงที่ เมื่อเปิดใช้โหมดดังกล่าว หน้าจอแสดงผล ยังคงเป็นหน้าจอสี
จุดที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม
•ไม่มีวิทยุ FM ในตัว
• แบตเตอรี่ที่ให้มาค่อนข้างน้อย ถ้าเน้นการใช้งานทั้งการถ่ายรูป และใช้งานแอพพลิเคชั่น อาจจะไม่พอต่อการใช้งานตลอดทั้งวัน ต้องพก Power Bank ติดตัว
ข้อควรทราบ: “เครื่อง Samsung Galaxy K Zoom ที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้ เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทาง ซัมซุง เท่านั้น ยังไม่ใช่เครื่องที่วางจำหน่ายจริงแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นตัวเครื่อง หรือฟังก์ชันการทำงานบางอย่างอาจจะยังไม่สมบูรณ์ 100% เหมือนกับเครื่องที่วางจำหน่ายจริง”
---------------------------------------
บทความรีวิวโดย: techmoblog.com
Update : 26/03/2015
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |