นอกเหนือจากดีไซน์, กล้อง, ปากกา S Pen และสเปกของ Samsung Galaxy Note 9 ที่จะเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อให้ความสนใจมากเป็นพิเศษแล้ว ฟีเจอร์หนึ่งที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือ ระบบระบายความร้อนบน Samsung Galaxy Note 9 นั่นเอง เนื่องจากรุ่นนี้ได้เพิ่มขนาดความจุแบตเตอรี่ให้มากขึ้น จากเดิม 3,300 mAh บน Galaxy Note 8 มาเป็น 4,000 mAh บน Galaxy Note 9
โดยทาง Samsung เอง ก็ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีระบายความร้อนบน Samsung Galaxy Note 9 ที่มีชื่อว่า Water Carbon Cooling System หรือระบบความเย็นน้ำคาร์บอน ซึ่งจากภาพโปรโมตนั้น จะเห็นแผ่นทองแดงขนาดใหญ่ ทำให้หลาย ๆ คนเกิดคำถามว่า ภายในแผ่นทองแดงนี้ มีการบรรจุของเหลวตามชื่อเรียก Water Carbon Cooling ไว้จริงหรือไม่
และล่าสุด ทาง Samsung ได้ออกมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับระบบ Water Carbon Cooling System แล้ว ซึ่งเผยว่า ระบบดังกล่าวมีน้ำอยู่จริง แต่ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเป็นเพราะน้ำได้ถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นไอน้ำเมื่อตัวเครื่องมีความร้อนเกิดขึ้น จากนั้นไอน้ำจะเดินทางผ่านท่อทองแดงที่มีลักษณะเป็นรูพรุน เพื่อให้ไอน้ำสามารถผ่านไปได้ ก่อนจะคืนสภาพกลับมาเป็นน้ำอีกครั้งเมื่อตัวเครื่องเย็นลง
ส่วนคาร์บอนนั้น จะเป็นตัวที่เรียกว่า Thermal Interface Material (TIM) ซึ่งอยู่ด้านบนของชิป และมีหน้าที่ช่วยจัดการความร้อนที่เกิดขึ้นบนแผ่นทองแดง โดยทาง Samsung เผยว่า TIM นั้น มีประสิทธิภาพดีกว่าซิลิโคนมากถึง 9 เท่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้แผ่นโลหะแทนซิลิโคน
เมื่อไม่นานมานี้ ทาง JerryRigEverything แชนแนลดังบน YouTube ได้เคยแกะ Samsung Galaxy Note 9 และตรวจสอบแผ่นชิ้นส่วนของแผ่นทองแดงเพื่อค้นหาว่า ระบบระบายความร้อนนั้นมีน้ำอยู่จริงหรือไม่ แต่กลับไม่พบของเหลวหรือน้ำอยู่ภายใน ซึ่งทาง JerryRigEverything ได้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า ของเหลวดังกล่าวอาจจะระเหยออกไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จากการไขข้อข้องใจของทาง Samsung ในข้างต้น คงจะได้บทสรุปแล้วว่า ระบบ Water Carbon Cooling System มีของเหลวอยู่ภายในจริง ไม่ใช่กิมมิคทางการตลาดแต่อย่างใด
-------------------------------------
ที่มา : phonearena.com
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 30/08/2018
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |