หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

Simulation Hypothesis : หรือโลกที่เราอยู่ จะไม่ใช่ของจริง?

เคยเล่นเกมตระกูล Sims กันไหมครับ? เกมที่เราสร้างตัวละครได้ตามใจและบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ในคอมพิวเตอร์ เฝ้าดูวิถีชีวิต ความเจริญ และความเปลี่ยนแปลงดำเนินไปเรื่อยๆ ในโลกสมมติที่เราสร้างขึ้น

แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าตัวเราเองก็อยู่ในโลกสมมติเหมือนกัน?

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในทุกขณะ ทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของโลกใบนี้และสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราตระหนักว่า ในอนาคตเทคโนโลยีอาจก้าวหน้าจนสร้าง “เอกภพจำลอง” ขึ้นมาได้อย่างสมจริง และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว? ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่รวมถึงตัวตนของเรา อาจไม่ใช่ของจริง แต่เป็นแค่โลกสมมติ (Simulation) ในคอมพิวเตอร์เท่านั้นก็เป็นได้


เป็นไปได้ไหมที่เราก็เป็น Sims เหมือนกัน?

อาจจะดูเหมือนเป็นความคิดที่หลุดโลกไปหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ความคิดที่ไร้สาระเสียทีเดียว Elon Musk เจ้าของบริษัท Tesla และ SpaceX ก็เป็นหนึ่งในคนที่ตื่นตัวกับแนวคิดนี้ โดยเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีของมนุษย์ที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง สักวันหนึ่งจะต้องถึงจุดที่สามารถสร้าง “โลกเสมือน” ขึ้นมาได้อย่างสมจริงจนไม่สามารถแยกความจริงกับสิ่งสมมติได้อีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง หากมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอื่นพัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้ว เราทุกคนอาจกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่สร้างขึ้นโดยเผ่าพันธุ์เหล่านั้นอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน

เราเรียกสมมติฐานโลกเสมือนนี้ว่า Simulation Hypothesis ครับ

 

Simulation Hypothesis ไม่ใช่เรื่องใหม่

แม้ว่า Elon Musk จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการจุดกระแสแนวคิดโลกเสมือนขึ้นมาในยุคนี้ แต่มนุษย์เราตั้งคำถามกับความเป็นจริงมานานแล้ว

ย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 15 René Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้เสนอแนวคิดสุดพิลึกที่เรียกว่า “Evil Demon” ซึ่งระบุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเขาเห็นและสัมผัสล้วนเป็นสิ่งสมมติที่ปีศาจร้ายสร้างขึ้นด้วยพลังอำนาจอันล้นเหลือ ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า อากาศ สีสัน ผืนดิน รูปร่าง แม้กระทั่งกายเนื้อของเขาเองล้วนไม่มีอยู่จริง เพียงแต่เขาถูกปีศาจทำให้เชื่อว่ามันมีอยู่เท่านั้น


Brain-in-a-vat

ต่อมาในปี 1938 นักปรัชญาชาวอเมริกัน Gilber Harman ได้ต่อยอดแนวคิดของ Descartes โดยเสนอทฤษฎี “มันสมองในขวดโหล” (brian-in-a-vat) ซึ่งสมมติสถานการณ์ว่า ใครสักคนนำสมองมนุษย์ไปเลี้ยงไว้ในขวดโหล เชื่อมต่อนิวรอนกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งคอยกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าเหมือนกับสมองในร่างกายมนุษย์ และสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาสำหรับการรับรู้ของสมองในขวดโหลโดยเฉพาะ จนสมองนั้นเชื่อว่ากำลังมีตัวตนอยู่จริงๆ และทุกสิ่งที่รับรู้ทั้งหมดเป็นของจริง ซึ่งทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังไตรภาคเรื่อง The Matrix ในเวลาต่อมา

 

สร้างโลกเสมือนขึ้นมาทำไม?

หากเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริง คำถามต่อมาก็คือ ใครหรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตามที่สร้างโลกเสมือนขึ้นมานั้นต้องการอะไรกันแน่? คำตอบที่เป็นไปได้นั้นมีหลากหลายครับ

เหตุผลหนึ่งถูกเสนอขึ้นมาเมื่อปี 2003 โดย Nick Bostrom ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผ่านเปเปอร์ “Are You Living in a Computer Simulation?” โดยระบุว่าเผ่าพันธุ์ทรงภูมิปัญญาในอนาคต อาจต้องการเรียนรู้อารยธรรมและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์บรรพบุรุษหรือเผ่าพันธุ์ที่เจริญมาก่อนหน้า (ซึ่งในกรณีนี้คือมนุษย์) จึงสร้างโลกเสมือนขนาดใหญ่ขึ้นด้วยสุดยอดเทคโนโลยีที่ตนถือครองอยู่เพื่อศึกษา หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายก็เหมือนกับตำราประวัติศาสตร์แบบ Virtual Reality นั่นเอง

แต่เหตุผลของการสร้างโลกเสมือนก็ไม่จำเป็นต้องมีสาระเสมอไป บางทีอาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง และเราก็เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในเกมที่สมจริงมากเท่านั้นเหมือนกับเวลาเราเล่นเกมตระกูล Sims หรือจริงๆ แล้วมันอาจไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษเลยก็ได้ เพราะเราไม่อาจเข้าใจความคิดของเผ่าพันธุ์ที่ทรงภูมิปัญญากว่าเราอยู่แล้ว เรียกได้ว่าอะไรก็เป็นเหตุผลให้เกิดโลกเสมือนขึ้นมาได้ทั้งนั้น

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ในโลกเสมือน?

คำตอบก็คือ “ไม่มีทางรู้ได้เลย” และในทางกลับกัน เราก็พิสูจน์ว่าเราอยู่ในโลกความจริงไม่ได้ด้วย

เพราะหากเราอยู่ในโลกเสมือนจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้จะถูกสร้างขึ้นและควบคุมโดยผู้สร้าง สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าเราไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงๆ นั้นจะ “ถูกกรอง” ออกจากการรับรู้ของเรา และหลักฐานทั้งหมดที่ทำให้เราเชื่อก็จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน เราจะถูกชักนำจากหลักฐานที่ผู้สร้างจำลองขึ้นมาให้เราและจะไม่มีทางสาวไปถึงความจริงได้ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น อารยธรรมในโลกเสมือนยังสามารถพัฒนาจนถึงจุดที่สร้างโลกเสมือนซ้อนขึ้นมาได้อีกเช่นกัน หมายความว่าในตอนนี้อาจมีโลกเสมือนที่ซ้อนทับกันอยู่เป็นอนันต์ และโลกของเราก็อาจเป็นโลกเสมือนในโลกเสมือนลำดับที่เท่าไหร่ก็ได้ ดังนั้นหากเรา “หลุดพ้น” จากโลกเสมือนของเราไปได้ เราก็จะไม่ได้เจอกับความจริงอยู่ดี แต่จะไปอยู่ในโลกเสมือนใบใหม่แทนไม่มีวันจบสิ้น และทำให้เราห่างไกลจาก “ความเป็นจริง” ไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราจะไม่ได้อยู่ในโลกเสมือนนั้นก็ยังมีอยู่ แต่ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว มันจึงมีความเป็นไปได้แค่ 1 ในพันล้านเท่านั้นที่เอกภพของเราจะมีอยู่ “จริงๆ”

แต่การที่เราอยู่ในโลกเสมือนอาจจะเป็นความโชคดีก็ได้

Elon Musk และ Nick Bostrom เชื่อว่า ปลายทางของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาทั้งหลายรวมไปถึงมนุษย์ คือการสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะด้วยภัยธรรมชาติ สงคราม หรืออะไรก็ตาม และหลังจากนั้นก็จะมีเผ่าพันธุ์ใหม่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทนที่ ซึ่งอาจสืบเชื้อสายมาจากเราหรือไม่ก็ได้ และจำลองเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นมาใหม่ในโลกสมมติเพื่อเฝ้าดูเราเจริญก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นหากเอกภพที่เราอยู่เป็นของจริง หมายความว่า ณ จุดๆ หนึ่งเราจะต้องเผชิญกับหายนะของเผ่าพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“หากอารยธรรมหยุดชะงัก เป็นไปได้ว่ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่ทำให้มันต้องหยุดลง...จริงๆ แล้วเราควรจะหวังให้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นโลกสมมติมากกว่า เพราะสุดท้ายเราก็มีแค่ 2 ทางเลือก คืออยู่ในโลกสมมติต่อไป หรือเดินหน้าสู่การล่มสลายแค่นั้น” Elon Musk กล่าวในงานประชุม Code Conference ปีที่แล้ว

 

แล้วเราควรทำอย่างไรต่อ?

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเราจะอยู่ในโลกความจริงหรือโลกเสมือน เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ดี สมมติฐาน Simulation Hypothesis ที่นำมาเสนอในวันนี้ก็เป็นเพียงแนวคิดน่าสนใจที่เอามาฝากผู้อ่านทุกท่านได้ขบคิดกันเล่นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเอกภพของเราเป็นแค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จริงๆ ก็หวังว่าจะไม่มีใครไปเดินสะดุดปลั๊กเข้านะครับ

 

---------------------------------------
ที่มา : Inc.com, Simulation-argument, IEP(1), (2)

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 07/11/2017

Virtual Reality Simulation Alternate Reality Base Reality






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy