ประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับ 2560 ที่ถือว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ประชาชนจะต้องรับรู้และทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวนั่นเอง โดยเฉพาะเรื่องของการกดไลค์ กดแชร์ และการคอมเมนต์ต่าง ๆ ผิดกฎหมายหรือไม่ ในวันนี้ ทีมงาน techmoblog จะมาสรุปใจความสำคัญของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับ 2560 มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยดีกว่า
1. ฝากร้าน-ส่งอีเมลขายของ ระวัง! โทษปรับ 200,000 บาท
คงจะเห็นกันจนเป็นเรื่องชินตากันแล้ว สำหรับการฝากร้านตาม Facebook หรือ Instagram แต่ตอนนี้ ใครที่คิดจะฝากร้าน หรือส่งอีเมลขายของ จะต้องคิดให้ดีเสียก่อน เพราะถือว่าการส่งข้อความที่ก่อความรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท
เช่นเดียวกับการส่ง SMS โฆษณา ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ผู้รับไม่ต้องการ (Spam) เช่นกัน มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่ถ้าหากมีทางเลือกให้ผู้รับปฏิเสธข้อความดังกล่าวได้ แบบนี้ไม่ถือว่าเป็น Spam
2. กดไลค์-กดแชร์ได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
การกด Like กด Share ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้ง Facebook หรือ Twitter รวมไปถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ สามารถกระทำได้ ยกเว้นการกดไลค์ที่เกี่ยวกับสถาบัน มีความเสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 แนะนำว่าไม่ควรกดไลค์โดยเด็ดขาด
ส่วนการ Share ถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูล แต่ถ้าหากเป็นการ Share ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะข้อมูลที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.
3. การโพสต์กล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
การโพสต์ภาพของผู้อื่นในที่สาธารณะ ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพที่เกิดขึ้นจากสร้างขึ้น, ตัดต่อ หรือดัดแปลง ทำให้บุคคลนั้นถูกดูหมิ่น, ถูกเกลียดชัง และได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
เช่นเดียวกัน ถ้าหากเป็นการกระทำต่อภาพของผู้เสียชีวิต และการกระทำดังกล่าวทำให้บิดา, มารดา, คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียชีวิตเสียชื่อเสียง, ถูกดูหมิ่น หรือได้รับความอับอาย ผู้ที่ทำการโพสต์ มีความผิดเช่นเดียวกัน (พ.ร.บ.ฉบับที่แล้ว มีความผิดเฉพาะคนที่ยังมีชีวิตอยู่)
4. มีข้อมูลผิดกฎหมายในเว็บไซต์ แต่เจ้าของเว็บไซต์ไม่ได้ทำการโพสต์เอง ให้แจ้งหน่วยงานแล้วลบออก ถือว่าไม่ผิด
เว็บไซต์สาธารณะที่มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ถ้าหากพบข้อมูลที่ผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออกเจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น เว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊ก ที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่ามีการแสดงความความคิดเห็นผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทันที และเมื่อเจ้าของระบบเว็บไซต์ทำการลบข้อความออกจะไม่มีความผิด
เช่นเดียวกับแอดมินเพจต่าง ๆ ที่มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ถ้าหากพบข้อความที่ผิดพ.ร.บ. เมื่อทำการลบออกจากเพจของตนเอง ก็ถือว่า ไม่มีความผิดเช่นกัน
นอกจากนี้ เนื้อหาที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ, เกี่ยวกับการก่อการร้าย, เนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม สามารถส่งฟ้องศาลเพื่อระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวได้
สำหรับข้อมูลข้างต้นนี้ ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ 2560 ที่มีผลกระทบต่อการใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์โดยตรง ฉะนั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
---------------------------------------
ที่มา : ratchakitcha.soc.go.th
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 26/05/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |