หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

เน็ตเร็วเน็ตช้าวัดกันตรงไหน? นอกจากค่า Mbps แล้วเราต้องดูที่อะไรอีกบ้าง? ไขคำตอบพร้อมกันได้ที่นี่ี

หากพูดถึงอินเทอร์เน็ตก็ต้องพูดถึงความเร็วคู่กันมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความเร็วถือเป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นเน็ตตามบ้านหรือเครือข่าย 4G LTE ซึ่งทุกวันนี้ก็มีความเร็วในระดับเมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ขึ้นไปกันหมดแล้ว สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ การจะดูว่าอินเทอร์เน็ตเร็วหรือไม่ก็มักจะพิจารณาจากตัวเลข Mbps ที่ผู้ให้บริการบอกไว้เป็นหลัก เช่นแพ็คเกจความเร็ว 20 Mbps, 100 Mbps เป็นต้น ซึ่งเราเข้าใจว่าตัวเลขยิ่งมากก็ยิ่งเร็วมาก แต่จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดของ “ความเร็ว” หากเราต้องการทราบว่าเน็ตที่เราใช้อยู่นั้น “เร็ว” จริงหรือไม่ เราต้องพิจารณาให้ลึกกว่านั้นอีกนิดครับ

 

ข้อมูล (Data) บนอินเทอร์เน็ตเดินทางอย่างไร?

ก่อนอื่นเรามารู้จักการรับ-ส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตกันก่อน เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เราจะทำการเปรียบเทียบการส่งข้อมูล (data) ทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบรถบรรทุกส่งของ

สมมติว่าเรามีรถบรรทุกอยู่คันหนึ่ง บรรทุกของได้ 10 ตัน วันนึงทำรอบได้ 5 รอบ รวมแล้วส่งของได้ 50 ตันต่อวัน หากเราอยากส่งของให้มากขึ้นเป็นวันละ 100 ตัน เรามีทางเลือก 2 ทางคือ

1. ต่อพ่วงไปอีก 1 คัน เพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น 2 เท่าต่อรอบ

2. เปลี่ยนรถเป็นคันใหม่ที่วิ่งได้เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

หากเราใช้รถบรรทุกคันเดิมแต่พ่วงท้ายเพิ่ม เราจะส่งของได้มากขึ้นต่อรอบ แต่ความเร็วในการส่งยังคงเท่าเดิม แต่ถ้าเราเปลี่ยนรถคันใหม่ที่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า เราส่งของได้เท่าเดิมในแต่ละรอบก็จริง แต่ส่งเร็วกว่าและตีรถกลับมารับของได้เร็วกว่า

การพ่วงท้าย เปรียบเสมือนการเพิ่ม Bandwidth

การเพิ่มความเร็วรถ เปรียบเสมือนการลด Latency

 

Bandwidth และ Latency : กุญแจสำคัญของความเร็ว

Bandwidth คือ “ปริมาณข้อมูลที่สามารถรับ-ส่งได้ใน 1 วินาที” แน่นอนว่ายิ่งตัวเลขสูงก็จะยิ่งดาวน์โหลด-อัปโหลดอะไรๆ ได้เร็วขึ้น เพราะส่งข้อมูลในแต่ละครั้งได้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งอัตราการส่งข้อมูลนี้มีหน่วยเป็น บิตต่อวินาที หรือ bps และตัวเลขเหล่านี้เองที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบอกเรามาตลอดว่ามันคือ “ความเร็ว” ซึ่งก็ถูกแค่ครึ่งเดียว

หากเราใช้อินเทอร์เน็ตแพ็คเกจ 10 Mbps การเปลี่ยนไปใช้แพ็คเกจ 20 Mbps หรือสูงกว่าก็เปรียบได้กับการพ่วงท้ายรถบรรทุก เราจะรับส่งปริมาณข้อมูลได้มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วความเร็วที่ข้อมูลเดินทางจากอุปกรณ์ของเราไปยังเซิฟเวอร์และวิ่งกลับมาก็ยังคงเท่าเดิม (ในกรณีที่ไม่ได้เปลี่ยนตัวนำสัญญาณ) จะเห็นผลชัดการรับ-ส่งไฟล์ขนาดใหญ่ เช่นการสตรีมมิ่งวิดีโอ หรือดาวน์โหลดโปรแกรมต่างๆ

ส่วนค่า Latency นั้นคือ “ความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูล” ซึ่งวัดจากความเร็วที่ข้อมูลเดินทางไปยังเซิฟเวอร์และเซิฟเวอร์ตอบกลับมา 1 รอบ หรือก็คือค่า Ping ที่หลายคนรู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิวินาที (ms) หากเรามีค่า Ping 20 ms หมายความว่าในการส่งแพ็คเกจข้อมูลไป-กลับแต่ละครั้งใช้เวลา 20 มิลลิวินาที ยิ่ง Ping มากก็จะยิ่งรู้สึกได้ถึงความหน่วง สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า Ping หรือ Latency มีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวกลางที่ใช้ส่งข้อมูล สภาพอากาศ และระยะทางระหว่างอุปกรณ์กับเซิฟเวอร์ เป็นต้น

ความสำคัญของ Ping จะเห็นได้ชัดเวลาเล่นเกมออนไลน์ เนื่องจากเกมออนไลน์มีการรับส่งข้อมูลเล็กๆ กับเซิฟเวอร์ตลอดเวลา กรณีนี้สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่รถบรรทุกที่ขนของได้มาก แต่เป็นรถกระบะที่ส่งของชิ้นเล็กๆ ได้แต่ถึงที่หมายเร็วกว่า หาก Latency หรือ Ping ต่ำ ต่อให้ใช้เน็ต 2 Mbps ก็เล่นได้ลื่นไหลกว่าเน็ต 100 Mbps ที่มี Ping 500+ แน่นอน (และนี่คือเหตุผลว่าทำไมบางคนเปลี่ยนแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ยังคงแลคเหมือนเดิม)

สรุปแล้วก็คือ เมื่อเราพูดถึงความเร็วของอินเทอร์เน็ต เรามักจะนึกถึง Bandwidth อย่างเดียวและมองข้ามเรื่อง Latency ไป การจะดูว่าอินเทอร์เน็ตของเราเร็วจริงหรือไม่จึงต้องพิจารณาทั้ง Bandwidth และ Latency ควบคู่กันไปครับ

 

สาธิตการทดสอบความเร็วเน็ต 4G LTE (AIS)

เมื่ออธิบายเรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ตกันไปแล้ว จึงขอทำการทดสอบให้เห็นกันชัดๆ เนื่องจากอินเทอร์เน็ต broadband มีคนทดสอบกันมาพอสมควรแล้วในครั้งนี้เราจึงเลือกเอา 4G LTE มาทดสอบกันบ้าง และอีกเหตุผลหนึ่งก็คืออินเทอร์เน็ต 4G ค่อนข้างใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของเรามากกว่า เพราะไปกับเราทุกที่และมีการใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลานั่นเองครับ

ในครั้งนี้ได้เลือก 4G LTE ของ AIS มาทดสอบ เนื่องจากมีประวัติที่น่าสนใจด้วยการถูกจัดอันดับความเร็วอินเทอร์เน็ตมือถือที่เร็วที่สุดในประเทศไทยจากการจัดอันดับโดย OOKLA Speedtest เมื่อปี 2015 และ 2016 และยังมีเทคโนโลยีการมัดรวมสัญญาณที่เรียกว่า CA หรือ Carrier Aggregation ที่เปรียบได้กับการนำถนนหลายสายมามัดรวมกัน และอัปเกรดรถบรรทุกให้ขนของได้มากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ทำให้ขนส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกว่าเครือข่าย 4G ธรรมดาถึง 30% ตามมาด้วยเทคโนโลยี MIMO 4×4 เพิ่มเสารับและเสาส่งข้อมูลอีกฝั่งละ 4 เสา เพิ่มเส้นทางให้ข้อมูลวิ่งได้ซ้อนกัน 4 ชั้น ทำให้ 4G ของ AIS กลายเป็น "4.5G" ที่ทำได้มากกว่าธรรมดา 4G ธรรมดา จึงถือโอกาสนำมาเป็นตัวอย่างและทดสอบความเร็วไปด้วยซะเลย

ซิมที่ใช้เป็นซิมใหม่แบบเติมเงินตามที่เห็นด้านบน ทดสอบโดยใช้สมาร์ทโฟน iPhone 7 Plus ผ่านแอปพลิเคชัน Speedtest ของ OOKLA ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล โดยจะทำการทดสอบ 5 ครั้งต่อเนื่องกัน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาเฉลี่ย ส่วนสถานที่ทดสอบคือออฟฟิศของเราบนอาคาร AIA Capital ชั้น 15 ติดถนนรัชดา ซึ่งเป็นย่านที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตหนาแน่น ผลจะออกมาเป็นอย่างไรดูตามด้านล่างได้เลยครับ

ทดสอบครั้งที่ 1 (คลิปวิดีโอ)

ทดสอบครั้งที่ 2

ทดสอบครั้งที่ 3

ทดสอบครั้งที่ 4

ทดสอบครั้งที่ 5

สรุปผลการทดสอบ

  • Ping เฉลี่ย : 31
  • Download เฉลี่ย : 68.64 Mbps
  • Upload เฉลี่ย : 27.32 Mbps

จากการทดสอบจะเห็นได้ว่าความเร็วที่ได้ไม่ค่อยคงที่ตั้งแต่ 59 - 81 Mbps ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยเช่นการเลือกเซิฟเวอร์ของตัวแอปพลิเคชัน Speedtest จำนวนผู้ใช้งานในขณะนั้น ส่วนค่า Ping จะอยู่ที่ 29 - 35 ms หากไม่เกิด 40 ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี (ปกติแล้วค่า Ping จะอยู่ที่ประมาณ 40-60 ms) สรุปแล้วในกรณีนี้ทั้งความเร็วของ Bandwidth และค่า Latency ออกมาดีทั้งคู่ ไม่น่าจะมีปัญหาการดาวน์โหลด/อัปโหลด หรือเกิดอาการแลคเวลาเล่นเกมส์ อย่างไรก็ตามความเร็วและความเสถียรของอินเทอร์เน็ต 4G อาจเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา พื้นที่ และจำนวนผู้ใช้งานในบริเวณนั้นๆ ด้วย

ถึงตอนนี้คงพอจะเข้าใจกันแล้วว่าความเร็วของอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ควรมองแต่ตัวเลข Mbps ที่ผู้ให้บริการบอกเราเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณา Latency (Ping) ควบคู่กันไปด้วย โดยมีหลักง่ายๆ คือ "Mbps ต้องมาก และ Ping ต้องน้อย" เพียงเท่านี้ก็ทราบได้แล้วว่าอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่นั้น "เร็วจริง" หรือไม่ครับ สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกับสาระดีๆ ในวงการไอทีกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ

 

---------------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 17/02/2017

4G






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy