หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ถกประเด็นร้อน UBER ผิดกฎหมายอย่างไร? แล้วผู้โดยสารอย่างเราจะมีทางเลือกอื่นนอกจากแท็กซี่สาธารณะบ้างได้หรือไม่?

กำลังเป็นประเด็นร้อนทีเดียวสำหรับแท็กซี่ UBER เมื่อกรมขนส่งทางบกยืนยันหนักแน่นว่า UBER เป็นบริการที่ผิดกฎหมายและเริ่มล่อจับทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากเพราะแท็กซี่ทั่วไปที่ให้บริการอยู่นั้นมักจะปฏิเสธผู้โดยสารและมีข่าวการโกงมิเตอร์ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่มี UBER ผู้โดยสารก็จะไม่มีทางเลือกต้องไปเสี่ยงกับปัญหาเดิมๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

แล้ว UBER ผิดกฎหมายจริงหรือไม่? หากว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว UBER เป็นบริการขนส่งที่ผิดกฎหมายจริงๆ ตาม พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ว่าด้วยการใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ คือการนำรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มารับจ้างส่งผู้โดยสาร ซึ่งรถที่สามารถนำมาให้บริการต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) เท่านั้น แต่ทาง UBER ก็ยืนยันว่าตนไม่ได้ให้บริการในรูปแบบ “รับจ้างส่งผู้โดยสาร” แต่เป็นบริการ “ร่วมเดินทาง (Ridesharing)” ซึ่งแตกต่างจากแท็กซี่ทั่วไปตรงที่เป็นบริการเรียกรถด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และปลอดภัยกว่า แต่ พรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ยังไม่รองรับการให้บริการแบบ Ridesharing ทาง UBER จึงเปิดแคมเปญรณรงค์ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อผลักดันให้ Ridesharing เป็นบริการถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่ : action.uber.org/th/

นอกจากแคมเปญดังกล่าวแล้ว ยังมีแคมเปญในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นบน change.org โดยชี้ว่า UBER มีความน่าเชื่อถือกว่าบริการรถแท็กซี่ทั่วไป โชเฟอร์สุภาพ แต่งตัวสะอาด และยังสามารถเรียกรถมารับที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ พร้อมระบุสถานที่รับ-ส่งอย่างชัดเจน จึงควรได้รับการผลักดันให้ถูกกฎหมายกันสักที ซึ่งในขณะนี้ก็มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกือบ 8,000 คนแล้ว และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและร่วมลงชื่อแคมเปญดังกล่าวได้ที่ : change.org

จริงๆ แล้วทาง UBER ก็ไม่ได้นิยามคำว่า “ร่วมเดินทาง (Ridesharing)” ไว้อย่างชัดเจนเท่าไหร่ ในเชิงปฏิบัติยังคงเหมือนกับการรับจ้างส่งผู้โดยสาร คือมีการเรียกรถไปส่งยังจุดหมายและจ่ายเงิน แต่มีบริการที่ดีและน่าเชื่อถือกว่า ติดอยู่อย่างเดียวคือรถยนต์เป็นป้ายดำเท่านั้น จะเรียกว่าเป็นการ "เลี่ยงบาลี" ก็ได้ แต่ด้วยความที่มันคล้ายกันมาก ส่วนตัวจึงมองว่าการทำให้ถูกกฎหมายไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาก็มีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐและ UBER หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ 

แม้ที่ผ่านมาจะปฏิเสธไม่ได้ว่า UBER ทำผิดกฎหมายจริง แต่ในมุมมองของประชาชน การเข้ามาของ UBER ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนตัวคิดว่าหากภาครัฐให้ความสำคัญกับสิทธิและประโยชน์ของประชาชนก็ควรผลักดันให้ UBER และบริการ Ridesharing อื่นๆ เป็นบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาจออกกฎข้อบังคับต่างๆ มาควบคุมให้แท็กซี่สาธารณะและ UBER ไม่เบียดเบียนกันเกินไป นอกจากประชาชนจะมีทางเลือกมากขึ้นแล้วยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของบริการแท็กซี่สาธารณะอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ใช้บริการอย่างเรานั่นเอง

แม้จะดูเหมือนตกลงกันได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าบนโต๊ะเจรจาแต่ละครั้งนั้นมีประเด็นละเอียดอ่อนอะไรบ้างที่ทำให้ตกลงกันไม่ได้สักที การลงชื่อรณรงค์ในครั้งนี้จะหาข้อสรุปให้กับ “ดีลที่ปิดไม่ลง” ระหว่าง UBER และภาครัฐได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

 

---------------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 10/03/2017

Uber





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy