ข่าวการบุกจับเซิฟเวอร์เว็บใต้ดินในบ้านเราที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในแวดวงชาว IT ซึ่งการจับกุมครั้งนี้จัดว่าไม่ธรรมดาเพราะเป็นการร่วมมือกันของตำรวจ 7 ชาติรวมไปถึง FBI โดยผู้ต้องหาเป็นชายต่างชาติเจ้าของเว็บใต้ดิน Alpha Bay ซึ่งเป็นแหล่งค้ายาเสพติดและอาวุธสงครามด้วย Bitcoin
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการพูดถึงเว็บใต้ดิน หรือที่เรียกว่า Deep Web และ Dark Web บางคนอาจจะสงสัยว่าเว็บใต้ดินที่ว่านี้มันต่างจากเว็บไซต์ทั่วไปอย่างไร มันไปแอบอยู่ตรงไหนของโลกอินเทอร์เน็ต และทำไมถึงต้องเป็นเรื่องใหญ่จนตำรวจ 7 ชาติต้องมาร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับโลกใต้ดินของอินเทอร์เน็ตทั้ง Deep Web และ Dark Web กันให้มากขึ้นครับ
Deep Web และ Dark Web คืออะไร ต่างกันอย่างไร?
ก่อนที่จะไปรู้จักด้านมืดของโลกอินเทอร์เน็ต เราต้องเข้าใจความหมายของ Deep Web และ Dark Web ก่อน เพราะทั้งสองคำนี้มักถูกนำมาใช้ในความหมายที่คลาดเคลื่อนอยู่บ่อยๆ
Deep Web คือส่วนหนึ่งของโลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะและไม่สามารถค้นหาได้ผ่าน search engine เว็บไซต์ใดๆ ก็ตาม ที่ต้องใช้รหัสผ่านในการเข้าถึงล้วนจัดเป็น Deep Web ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าการทำธุรกรรมการเงินของธนาคาร ไปจนถึงหน้าแก้ไขโปรไฟล์ในเว็บบอร์ดหรือ social network ต่างๆ ส่วน Dark Web เป็นส่วนหนึ่งของ Deep Web อีกที ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการป้องกันและเข้ารหัสอย่างแน่นหนา จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์และวิธีการพิเศษในการเข้าถึง ผู้ที่เข้ามาใน Dark Web ทั้ง host และ user จะปกปิดตัวตนอย่างมิดชิด ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใครหรืออยู่ที่ไหน มันคือโลกใต้ดินของโลกอินเทอร์เน็ตดีๆ นี่เอง และนี่คือเหตุผลที่ Dark Web มักจะเต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมายและอะไรอีกหลายอย่างที่คนธรรมดาอย่างเราไม่ควรเข้าไปข้องแวะ เช่นเว็บไซต์ Alpha Bay ที่โดนเก็บไปเป็นต้น
กิจกรรมในโลกมืดมีหลากหลาย ตั้งแต่การก่อการร้าย มือปืนรับจ้าง ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ ค้ายา ปลอมแปลงเอกสาร ค้าอาวุธ ค้าอวัยวะ การแฮ็ค และสื่อลามกผิดกฎหมาย แน่นอนว่าหากตัวตนของ user หรือ host ถูกเปิดเผยขึ้นมา พวกเขาจะต้องถูกกฎหมายตามล่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปกปิดตัวตนจึงเป็นหัวใจสำคัญของคนในวงการนี้
เข้าสู่ Dark Web ได้อย่างไร?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าเราไม่สามารถเข้าสู่ Dark Web ได้ด้วยวิธีทั่วไป จำเป็นต้องใช้ web browser พิเศษเพื่อการนี้ด้วยเฉพาะ และที่นิยมใช้กันก็คือ Tor Browser
Tor Browser เป็นเบราเซอร์ที่มีระบบปกปิดตัวตนของ user อย่างรัดกุม โดยเชื่อมต่อผ่าน relay node ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายชั้นจนทำให้การระบุตำแหน่งหรือตัวตนของ user แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยป้องกันการรัน script ต่างๆ และสกัดกั้นการสอดแนมอีกด้วย
ถึงแม้ Tor Browser จะเป็นเหมือนประตูสู่โลกใต้ดิน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าสู่ Dark Web ได้ง่ายๆ เพราะ Dark Web จะไม่ปรากฏบน search engine แน่นอน เราจึงจำเป็นต้องมี URL ของเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของ www.abc12345.com แต่จะเข้ารหัสเป็นชุดตัวอักษรและตัวเลขยาวๆ นอกจากจะจำยากแล้วยังหายากอีกด้วยเพราะส่วนใหญ่จะแบ่งปันกันเฉพาะคนวงในเท่านั้น
การท่องไปใน Dark Web ก็เหมือนเดินเข้าไปในตลาดมืดที่เต็มไปด้วยอาชญากร เราอาจจะถูกจ้องเล่นงานได้ทุกเมื่อ การคลิกลิงค์สุ่มสี่สุ่มห้าอาจจะได้ของแถมเป็นมัลแวร์หรือถูกสอดแนมได้ง่ายๆ หลายคนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Dark Web แล้วไม่ระมัดระวังตัวอาจถูกสะกดรอยตาม หรือถูกก่อกวนด้วยโทรศัพท์แปลกๆ และยังมีเรื่องน่ากลัวอีกมากมายที่เกิดขึ้นกับคนที่พลาดท่าใน Dark Web สรุปแล้วก็คือ Dark Web ไม่ใช่สถานที่ที่คนธรรมดาอย่างเราจะย่างกรายเข้าไป
Dark Web มีแต่เรื่องแย่ๆ เท่านั้นหรือ?
แม้ Dark Web จะเป็นดั่งแดนสนธยาของโลกอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในนั้นจะเลวทรามไปเสียหมด ยังมีผู้คนบางกลุ่มที่ต้องการเคลื่อนไหวแบบไม่ระบุตัวตน เช่นเหล่านักรณรงค์และผู้สื่อข่าวที่มีอุดมการณ์สวนทางกับรัฐบาล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเว็บไซต์ WikiLeaks ซึ่งเปิดเผยการคอร์รัปชันของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก เพราะฉะนั้นการเข้าสู่ Dark Web จึงไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าเว็บไซต์อะไร และไปทำอะไรในนั้นมากกว่า
สุดท้ายนี้ต้องขอเรียนให้ทราบว่า บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Deep Web และ Dark Web ให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น ไม่สนับสนุนให้ใครก็ตามเข้าสู่ Dark Web เพื่อไปทำกิจกรรมผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับคนทั่วไป หากต้องการท่องเว็บไซต์แบบไม่เปิดเผยตัวตน แค่ใช้ VPN ก็เพียงพอแล้วครับ
-------------------------------------
ที่มา : Mobipicker
แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com
Update : 26/07/2017
หน้าหลัก (Main) |
(สินค้า IT) ออกใหม่ |
|
FOLLOW US |