หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

4 เหตุผลที่เรายังไม่ค่อยเห็นสมาร์ทโฟน RAM 8 GB ในปี 2017

เวลาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง ปัจจัยหลักๆ ที่คนส่วนมากมักนำมาพิจารณาความจุของ RAM เพราะเราเชื่อกันว่า RAM ยิ่งเยอะเท่าไหร่ การทำงานก็ยิ่งรวดเร็วลื่นไหลขึ้นเท่านั้น (ซึ่งก็ไม่ถูกเสียทีเดียว) ที่ผ่านมาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ต่างๆ จึงพยายามตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ด้วยการเพิ่ม RAM ลงในสมาร์ทโฟนเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อนที่ RAM 2GB จัดเป็นสเปกระดับไฮเอนด์ เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำที่สมาร์ทโฟนทุกรุ่นควรมี ส่วนรุ่นบนๆ ก็เริ่มขยับไปที่ RAM 6 GB กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Huawei Mate 9 Pro, Oppo R9s Plus หรือ Xiaomi Mi5s Plus ซึ่ง RAM ขนาดนี้จัดว่าสู้กับแล็ปท็อปหลายรุ่นได้สบายๆ แต่ไม่ว่า RAM จะเยอะแค่ไหน ก็ยังไม่พอต่อความต้องการของผู้ใช้ที่ต้องการประสบการณ์การใช้งานแบบลื่นไหลขั้นสุดอยู่ดี อย่างในตอนนี้ก็มีหลายคนเริ่มถามหาสมาร์ทโฟน RAM 8 GB กันแล้ว แต่ผู้ผลิตก็ยังคงตรึงเพดานไว้ที่ 4 GB และ 6 GB อยู่ดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? แน่นอนว่าเรื่องนี้มีเหตุผล และต่อไปนี้คือเหตุผลที่ว่านั้นครับ


1. RAM ขาดตลาด และแพงขึ้น

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามาตรฐานสเปกของสมาร์ทโฟนเติบโตเร็วมาก เพราะเป็นช่วงที่สมาร์ทโฟนจีนเริ่มทำตลาดระดับโลก และชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยการอัดสเปกแรงๆ ในราคาถูกกว่าเจ้าอื่น และกลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม หลายๆ แบรนด์จึงต้องยกระดับมาตรฐานสเปกให้ทัน สมาร์ทโฟนจึงมี RAM สูงขั้นเรื่อยๆ ในเวลาอันรวดเร็วท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด จาก 2 GB กลายเป็น 4 GB และ 6 GB ในเวลาไม่นาน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการสมาร์ทโฟนแข่งขันกันได้ถึงเพียงนี้ คือราคาของ RAM ที่ยังไม่สูง


Zenfone AR สมาร์ทโฟน RAM 8 GB รุ่นแรกของโลก

แต่การพยายามแข่งขันด้านฮาร์ดแวร์นี้เอง ทำให้ชิ้นส่วนหลายอย่างเริ่มขาดตลาด โดยเฉพาะ RAM DDR4 ที่มียอดออร์เดอร์จากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจำนวนมาก ทำให้ตั้งแต่กลางปี 2016 เป็นต้นมา RAM DDR4 เริ่มขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทบไปถึงราคา RAM ของ PC ด้วย เมื่อถึงช่วงปลายปี RAM DDR4 เริ่มขาดตลาดหนักขึ้น ปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหา Samsung Galaxy Note 7 ที่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรีและต้องเรียกคืนเครื่อง Samsung จึงต้องสั่งซื้อ RAM DDR4 มาผลิต Galaxy Note 7 ล็อตใหม่ให้ทันกับความต้องการ (ซึ่งสุดท้ายก็ถูกเรียกคืนไปอีกรอบเช่นกัน) ด้วยเหตุนี้ ในครึ่งแรกของปี 2017 แต่ละแบรนด์จึงต้องชะลอการเพิ่ม RAM ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ไปก่อน และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เรือธงใหม่ๆ หลายรุ่นยังคงมี RAM เท่ากับรุ่นที่แล้ว เช่น Samsung Galaxy S8

 

2. การเพิ่ม RAM ไม่ใช่ทางออก

อย่างที่กล่าวไว้ด้านบน ที่ผ่านมาผู้ผลิตสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะฝั่ง Android แข่งเพิ่มสเปกกันอย่างดุเดือด เริ่มตั้งแต่แข่ง CPU ที่ทำให้ dual-core (2 คอร์) กระโดดเป็น deca-core (10 คอร์) ในเวลาแค่ไม่กี่ปี ตามมาด้วยแข่งขนาดจอ กล้อง และ RAM จนกลายเป็นว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาด้วยฮาร์ดแวร์มากเกินไป หากผู้ใช้บอกว่าเครื่องหน่วง ก็แก้ปัญหาด้วยการยัด RAM เพิ่มเข้าไปเยอะๆ ในรุ่นต่อไป เมื่อ RAM แพงขึ้นจนไม่สามารถเหมามายัดลงสมาร์ทโฟนตามใจชอบได้ เหล่าผู้ผลิตจึงต้องคิดหาวิธีใหม่ที่จะทำให้สมาร์ทโฟนของตนดีขึ้นและเร็วขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่ม RAM ซึ่งก็คือการหันไปปรับปรุงซอฟต์แวร์ระบบให้บริหารจัดการทรัพยากรได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรของซอฟต์แวร์นั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าฮาร์ดแวร์ เพราะสมาร์ทโฟนจะดึงความสามารถของฮาร์ดแวร์มาใช้ได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์ระบบโดยตรง ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ iPhone ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีความเสถียร และทำงานได้ไหลลื่น แม้จะมีสเปกต่ำกว่าสมาร์ทโฟน Android เพราะ iPhone ทำงานบนระบบปฏิบัติการ iOS ที่ Apple พัฒนาขึ้นเอง และเป็นระบบปิดที่มีแค่ iPhone, iPad และ iPod เท่านั้นที่ใช้ได้ เรียกว่า Apple ทำเองแบบครบวงจร จึงสามารถปรับแต่งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ และรีดเอาประสิทธิภาพของ iPhone ออกมาได้ครบทุกหยด นับเป็นเรื่องดีที่แบรนด์สมาร์ทโฟนฝั่ง Android จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์เช่นกัน

 

3. กระแส VR กำลังมา แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้

ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ภาพยนตร์และเกมแนว VR เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ทาง Google ก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Google Daydream ขึ้นมารองรับคอนเทนต์ VR เกม Pokemon GO ที่ใช้เทคโนโลยี AR ก็สร้างกระแสโด่งดังถล่มทลายไปทั่วโลก เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนี้กำลังเติบโตอย่างงดงาม แน่นอนว่าวงการสมาร์ทโฟนต้องตอบสนองด้วยการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ประเดิมด้วย ZenFone AR ที่มี RAM มาให้ถึง 8 GB เพื่อให้ผู้ใช้สนุกกับโลก VR และ AR ได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกในวงการที่มี RAM เยอะขนาดนี้ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นสัญญาณการเริ่มต้นของยุค VR และ AR ที่ชัดเจนมาก แต่ทำไมแบรนด์อื่นถึงไม่ทำตาม?

คำตอบก็คือยุคแห่ง VR กำลังมาก็จริง แต่ยังมาไม่ถึงครับ

แม้จะมีคอนเทนต์และอุปกรณ์ออกมามากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่กระแส VR ยังไม่ถึงจุดพีคขนาดที่จะกลายมาเป็นฟีเจอร์สำคัญของสมาร์ทโฟน หากลองถามคนทั่วไปว่าเลือกซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นนี้เพราะอะไร คงมีน้อยคนมากที่จะตอบว่าซื้อมาเพราะจะดูหนังหรือเล่นเกม VR เมื่อเป็นแบบนี้ผู้ผลิตก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบยกระดับ RAM และอัปเกรดหน้าจอเป็น 2K-4K อย่างน้อยก็ในตอนนี้

 

4. ยังไม่จำเป็นต้องใช้ RAM เยอะขนาดนั้น

แอปพลิเคชันที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องใช้ RAM มากขนาดนั้น ต่อให้เป็นคอนเทนต์ VR ก็ตาม แม้ Android Nougat จะเพิ่มฟีเจอร์ Splitscreen ที่ทำให้เราสามารถแบ่งหน้าจอใช้งาน 2 แอปพลิเคชันพร้อมกันได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ RAM มากกว่าปกติ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้ RAM 8 GB อยู่ดี เพราะ RAM 4 GB สามารถรองรับการทำงานเหล่านี้ได้ดีอยู่ ยิ่งมีซอฟต์แวร์ที่บริหารทรัพยากรได้ดีด้วยแล้วยิ่งสบายเข้าไปใหญ่ ส่วนเกมใหม่ๆ ที่มีกราฟิก 3D สวยงามอลังการก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะผู้พัฒนาเกมก็ต้องสร้างเกมให้เหมาะกับสเปกของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่แล้ว สรุปแล้วก็คือคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตอนนี้ อาจยังไม่จำเป็นต้องใช้ RAM มากขนาดนั้นครับ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีมีการพัฒนาต่อยอดอยู่เสมอ แม้ตอนนี้ RAM 8 GB บนสมาร์ทโฟนจะยังไม่จำเป็น แต่ไม่ช้าก็เร็วเชื่อว่ามันจะกลายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสมาร์ทโฟนอย่างแน่นอน สมาร์ทโฟนในอนาคตที่ต้องมี RAM ขั้นต่ำ 8 GB จะมาพร้อมเทคโนโลยีแบบไหนบ้าง คิดแล้วก็น่าตื่นเต้นเหมือนกันครับ

 

--------------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 25/05/2017






Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy